ในขณะที่กลุ่มเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยล้วนปฏิเสธแนวทางดังกล่าว และพยายามแสดงออกซึ่งสิทธิในการรักษารัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย หากจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบอะไรบางอย่างที่สำคัญระดับประเทศ เช่นคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีเอง ก็ควรที่จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่การตัดสินใจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม ที่จะเอาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือบริหารประเทศได้โดยไม่ผ่านการตัดสินใจของ ประชาชน
หนทางต่อจากนี้ จึงเป็นความพยายามของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ที่มีอำนาจทั้งในศูนย์กลางอำนาจรัฐ อย่างเช่นกลุ่มองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือจะเป็นกลุ่มอำนาจนอกศูนย์กลาง อย่างเช่น ม็อบ กปปส.หรือนายทุนที่ให้การสนับสนุนการล้มรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย
อะไรคือ เงื่อนไขการได้มาซึ่งนายกคนกลาง อันเป็นความปราถนาของขบวนการล้มรัฐบาล มาตรา 7 วันนี้ เว็บไซต์ ispacethailand.com จะพาไปดู 4 เงื่อนไขในปัจจุบัน ของการได้มาซึ่งนายกคนกลางกัน
1.นายกรัฐมนตรีถูกชี้มูลจำนำข้าว
ปัญหาเกี่ยวกับนโยบายจำนำข้าว ยังเป็นจุดที่รัฐบาลประสบสภาวะลำบาก เนื่องด้วยปัจจุบันถูกองค์กรอิสระอย่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยพุ่งเป้าไปที่นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยเหตุผลว่าปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น
โดยเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเข้าชี้แจงข้อกล่าวต่อ ป.ป.ช.และได้ส่งเอกสารเพิ่มเติมกว่า 200 หน้า และเพิ่มพยาน 11 ปาก[1] เพื่อชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ว่าไม่ได้เกิดการทุจริตในโครงการดังกล่าว และชาวนาได้ประโยชน์จากโครงการนี้ หลังจากนี้ ในเดือน เม.ย.ก็เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.พิจารณา หากข้อกล่าวหามีมูล นายกรัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการ แล้วตั้งรองนายกฯ รักษาราชการแทน แต่หากไม่มีมูล ก็ยกคำร้อง
ต่อด้วยช่วงปลายเดือน เม.ย.ตามข้างต้น หากนายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็อาจมีการยื่นตีความว่ารัฐบาลรักษาการสิ้นสภาพ ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของรองประธานวุฒิสภา เสนอชื่อนายกคนกลาง หรืออาจจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่ารัฐบาลยังไม่สิ้นสภาพรักษาการ ก็จะไม่เกิดนายกคนกลาง หากศาลรัฐธรรมนูญตีความตามวิธีการนี้
และในช่วงเดือน พ.ค.ก็จะเป็นหน้าที่ของวุฒิสภาในการพิจารณาถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจกาตำแหน่ง ซึ่งต้องใช้เสียงมากกว่า 3 ใน 5 ถ้าหากเป็นไปตามแนวทางนี้ คณะรัฐมนตรีก็จะพ้นด้วย ทำให้รัฐบาลเสี่ยงต่อการถูกตีความว่าสิ้นสภาพ นำมาซึ่งสุญญากาศทางการเมือง และนายกคนกลาง
2.การโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี
หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้รัฐบาลคืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคง แห่งชาติ (สมช.) ภายใน 45 วัน โดยศาลชี้ว่าใช้ดุลพินิจไม่ชอบด้วยกฏหมาย แม้กระบวนการจะถูกต้อง[2] ก็เป็นปัญหาอันหนักอึ้งของรัฐบาล เนื่องด้วยหากกล่าวถึงนายถวิล ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลชัดเจน ตั้งแต่ได้รับตำแหน่งนี้ในช่วงสมัยรัฐบาลอภิสิทธ์ และเคยขึ้นเวทีม็อบ กปปส.
หลังศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งดังกล่าว กลุ่มสมาชิกวุฒิสภาสรรหา เช่น นายไพบูลย์ นิติตะวัน พร้อมด้วย ส.ว.รวม 27 คน ก็ได้ยื่นคำร้องเอาไว้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้เพื่อพิจารณา ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรี กระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญจริง ก็จะส่งผลให้การดำรงตำแหน่งนายกรักษาการสิ้นสุดลงไป ซึ่งจะส่งผลให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งก็จะนำมาสู่สุญญากาศทางการเมือง แล้วนำไปสู่นายกคนกลางในที่สุด
3.ถูกกล่าวหาว่าแบ่งแยกประเทศ
ห้วงเดือน ม.ค.-ก.พ.ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของความขัดแย้งทางการเมืองไทยจุดหนึ่งก็ว่าได้ หลังประชาชนหลายฝ่ายมองว่ากลุ่มตนถูกริดรอนสิทธิ จนถึงขั้นออกอาการน้อยใจว่าทุกอย่างในประเทศนี้ 2 มาตรฐานแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคำตัดสินของศาลแพ่งว่าการชุมนุมของ กปปส.เป็นไปอย่างสงบ สันติอหิงสา ทั้งๆ ที่มีการขัดขวางการเลือกตั้งและปิดสถานที่ราชการ ในขณะที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นม็อบที่สร้างความรุนแรง[3] บางกลุ่มถึงขั้นขอแบ่งแยกประเทศกันเลย เพราะไม่มีความยุติธรรมสำหรับประชาชนทุกคนในประเทศนี้
โดยได้มีผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้ว่าพรรคเพื่อไทยมีส่วนในการสร้างกระแส แบ่งแยกประเทศ เพราะกลุ่มเหล่านั้นล้วนเป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะในกรณีของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย[4] ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่ได้กำหนดโทษเกี่ยวกับการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการ ปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตาม วิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ โดยหากผู้กระทำเป็นพรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคและเพิ่กถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและ กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคเพื่อไทย ก็จะทำให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสิ้นสภาพไปด้วย และก็นำไปสู่สภาวะสุญญากาศเพื่อหานายกคนกลาง
4.รัฐประหาร
การตัดวงจรทางการเมือง ตลอด 82 ปี ของประชาธิปไตยในไทย ทางหลักที่ได้ผล คือ การทำการรัฐประหารโดยฝ่ายทหาร เป็นจำนวนกว่า 18 ครั้ง[5] ที่รัฐประหารเกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา โดยเหตุผลหลักของการทำรัฐประหาร คือ การคอร์รัปชั่น และนักวิชาการหลายฝ่ายก็สรุปแล้วว่าไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง แต่ยิ่งสร้างความขัดแย้งและเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นอีก เพราะการรัฐประหารนั้นแหละคือ การคอร์รัปชั่นอำนาจของประชาชน
ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ประชาชนแบ่งออกกันเป็นสองฝ่ายตามความคิดทางการเมืองของกลุ่มตน และยังต่อสู้กันตามระบอบประชาธิปไตย เช่น การแลกเปลี่ยนถกเถียง การใช้พื้นที่ในการชุมนุมประท้วง แม้จะมีการกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นบางครั้ง แต่หากมีการทำรัฐประหารก็จะเป็นการเลือกข้างโดยชัดเจน เพราะทหารก็เป็นหนึ่งคู่กรณีขัดแย้งในปัจจุบัน
ขณะที่ อีกฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาล เช่น ม็อบ กปปส.ก็ให้การสนับสนุนการทำรัฐประหารของทหาร เพื่อเปิดทางให้กับนายกคนกลาง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายในทางการเมือง แต่เป็นวิธีที่ยากในการปฏิบัติของทหาร เพราะต้องทนกับแรงเสียดทานกระแสโลก
จากที่กล่าวมาทั้ง 4 แผนการ ในการเปิดทางสู่นายกคนกลางข้างต้น หากวิเคราะห์ถึงแนวทางใดที่เป็นไปได้มากที่สุด ทางเว็บไซต์ ispacethailand.com มองว่า 3 แผนการแรก เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากขในการเปิดทางให้นายกคนกลาง เพราะถ้าตีความตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐แล้วไม่มีทางเป็นไปได้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
เนื่องจาก การเสนอชื่อนายกฯ คนกลาง หรือนายกฯ มาตรา ๗ โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา ๗ ซึ่งมีความว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั้นย่อมขัดกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๗๑ และ ๑๗๒ ซึ่งระบุบังคับไว้อย่างชัดเจนให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ดังนั้นความพยายามในการสร้างกระแสแต่งตั้งนายกฯ คนกลาง หรือ นายกฯ มาตรา ๗ จึงเป็นไปไม่ได้ หากรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ยังคงบังคับใช้อยู่[6] ทางเดียวที่จะทำได้ ก็คือ การรัฐประหารแล้วฉีกรัฐธรรมนูญนี้ทิ้งเท่านั้น
[1] http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9570000036500&keepThis=true&TB_iframe=true&height=650&width=850&caption=Manager+Online+-+%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87
[2] http://www.manager.co.th/politics/viewnews.aspx?NewsID=9570000026403
[3] http://www.thairath.co.th/column/pol/wikroh/407065
[4] http://www.youtube.com/watch?v=QlIrx4Juo5M
[5] http://www.thairath.co.th/column/pol/editor/344313
[6] โพสต์ทูเดย์, http://bit.ly/1h5Gixt
Source by :: http://www.ispacethailand.com/political/2884.html
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.vvoicetv.com/knowledge-id16116.html
เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
ขอบคุณภาพการ์ตูนเซีย