วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

คำแถลงปิดคดีของนายกฯยิ่งลักษณ์ 1สค.2560




คำแถลงปิดคดีของนายกฯยิ่งลักษณ์ 
วันอังคารที่ 1 สิงหาคม 2560
ยาวมาก มี 19 หน้าลงไว้ให้อ่านสำหรับท่านที่ชอบอ่านนะครับ...


กราบเรียนองค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ
ก่อนอื่นดิฉันขอกราบขอบพระคุณองค์คณะผู้พิพากษา ที่อนุญาตให้ดิฉันแถลงปิดคดีด้วยตนเองในวันนี้ เพิ่มเติมจากคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร
ดิฉันขอใช้โอกาสนี้ กล่าวกับทุกท่านอย่างหมดใจในวันนี้ ในเรื่องที่ดิฉันถูกดำเนินคดีโดยไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมและตลอดเวลาที่ดิฉันได้นั่งรับฟังการพิจารณาคดีนี้ นับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559 และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 รวมการไต่สวนของศาลในคดีนี้ทั้งหมด 26 นัด เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือนที่ดิฉันไม่เคยขาดนัดพิจารณาคดีของศาลแม้แต่สักครั้งเดียว ทั้งนี้เพราะดิฉันมั่นใจในความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาที่มีต่อดิฉัน
ด้วยความเคารพต่อทุกท่านที่เป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนี้ หากมีถ้อยคำใดที่ดิฉันเปิดใจกล่าวอย่างตรงไปตรงมานั้น ดิฉันไม่ได้มีเจตนาอื่นใดและไม่ได้ประสงค์จะใส่ร้ายหรือใส่ความผู้ใด ดิฉันเพียงต้องการให้การพิพากษาคดีที่ดิฉันถูกกล่าวหาในครั้งนี้เป็นไปโดยถูกต้อง เที่ยงธรรม ตามรัฐธรรมนูญกฎหมาย ภายใต้หลักนิติธรรมที่ดิฉันไม่เคยได้รับจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโจทก์ในคดีนี้มาก่อน

ดิฉันขอเรียนแก้ข้อกล่าวหา ในเรื่องสำคัญ 6 เรื่อง ตามลำดับ ดังนี้
เรื่องที่ 1 ดิฉันถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้ดิฉันจบการศึกษาทางรัฐศาสตร์แต่ดิฉันได้มีโอกาสรับรู้คำกล่าวของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานศาลฎีกาและอดีตประธานองคมนตรีที่ได้กล่าวไว้ว่า “ตำรวจเปรียบประหนึ่งต้นกระแสธารแห่งความยุติธรรม อัยการเป็นกลางน้ำ ศาลเป็นปลายน้ำ ต้นน้ำจึงต้องใสสะอาด จึงจะทำให้ปลายน้ำใสสะอาดตาม หากต้นน้ำขุ่นมัวเสียแล้วปลายน้ำก็จะขุ่นมัวตาม ราษฎรก็จะไม่ได้รับความยุติธรรม”
คดีนี้ มีข้อพิรุธมากมาย ตั้งแต่ชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชั้นก่อนโจทก์ฟ้องคดี ชั้นฟ้องคดีและไต่สวนในศาล ดังนี้

1. ชั้นกล่าวหาและชี้มูลความผิดโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นต้นน้ำ
มีการเร่งรีบรวบรัดชี้มูลความผิด
โดยเริ่มต้นจากการแจ้งข้อกล่าวหา การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นต้นน้ำและการฟ้องคดีของโจทก์ ซึ่งถือเป็นกลางน้ำทุกท่านจะเห็นข้อพิรุธถึงความขุ่นมัวของต้นน้ำและกลางน้ำ ตามข้อเท็จจริงที่ดิฉันได้นำสืบต่อศาลเป็นข้อยุติแล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. เริ่มต้นกล่าวหาดิฉันด้วยพยานเอกสารเพียง 329 แผ่น ใช้เวลาไต่สวนเพียง 79 วัน และชี้มูลความผิดดิฉันหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ดิฉันพ้นจากตำแหน่งเพียง 1 วัน
เร่งรีบชี้มูลทั้ง ๆ ที่ข้อกล่าวหาต่อบุคคลอื่นในเรื่องทุจริตการระบายข้าวซึ่งเป็นระดับปฏิบัติการยังไม่มีข้อสรุป และเรื่องดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยืนยันตลอดมาว่าไม่เกี่ยวข้องกับดิฉัน

2. ชั้นก่อนโจทก์ฟ้องคดี
ก่อนการฟ้องคดีอัยการสูงสุดเห็นว่า รายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะดำเนินคดีกับดิฉันได้ ในสาระสำคัญ 4 ประเด็น คือ
ประเด็นโครงการรับจำนำข้าวว่าดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรี ประธาน กขช. จะยับยั้ง หรือยกเลิกโครงการที่เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภาตามกฎหมาย ได้หรือไม่ อย่างไร 
ประเด็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 
ประเด็นการทุจริต 
และประเด็นเรื่องความเสียหายในคดีนี้ยังเป็นปัญหาที่ฝ่ายโจทก์แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. และโจทก์ ต้องมีภาระพิสูจน์ถึงความเสียหายว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเสียหายนั้นมากมายถึงขนาดที่ดิฉันต้องยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวทั้งๆ ที่ยังไม่มีตัวเลขความเสียหายแน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าใด
ดังนั้น ทุกประเด็นล้วนแต่มีข้อไม่สมบูรณ์ และไม่มีพยานหลักฐานพอที่จะดำเนินคดีได้
แต่สุดท้ายก็มีการตัดสินใจฟ้องทั้งๆ ที่ไม่มีการรวบรวมพยานหลักฐานตามที่อัยการสูงสุด แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ กล่าวคือ
วันที่ 3 กันยายน 2557 อัยการสูงสุดเสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างฝ่ายอัยการสูงสุดและฝ่ายคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อจะรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งๆ ที่คณะทำงานร่วม ฯ ดังกล่าว มิได้ดำเนินการใด ๆ ตามที่แจ้งข้อไม่สมบูรณ์
แต่ในวันที่ 23 มกราคม 2558 อัยการสูงสุดกลับแถลงว่าจะฟ้องคดีกับดิฉันก่อนที่ สนช. จะได้ลงมติถอดถอนดิฉันเพียง 1 ชั่วโมงซึ่งทำให้สังคมตั้งคำถามว่า การแถลงข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นการดำเนินการเพื่อชี้นำการลงมติถอดถอนดิฉันหรือไม่

3. ชั้นฟ้องคดีและไต่สวนในศาล 
มีการฟ้องนอกสำนวน ป.ป.ช.
โดยฟ้องดิฉันก่อนแล้วค่อยสร้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมในภายหลัง และพบความผิดปกติของคำฟ้องที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเสื่อมสภาพของข้าวและการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งขั้นตอนการรับจำนำและขั้นตอนการระบายข้าว ที่ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนไว้ในรายงานแต่โจทก์กลับนำมากล่าวหาดิฉันโดยไม่ยึดรายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่กฎหมายกำหนด
ส่วนในชั้นพิจารณาคดีโจทก์มีการเพิ่มเติมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งไม่เคยมีการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. อย่างมีพิรุธ 3 เรื่อง กล่าวคือ

1) เรื่อง “รายงานผลการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ” ที่หัวหน้า คสช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ เรื่องการเสื่อมสภาพของข้าว ที่เกิดขึ้นภายหลังฟ้องคดี
ด้วยคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ไม่มีประสบการณ์เรื่องข้าวจึงทำให้เกิดข้อสังเกตและข้อพิรุธว่า
การจัดระดับเกรดข้าวเป็น เกรด A B C เพื่อดำเนินการระบายข้าวโดยไม่เคยมีมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ และไม่เคยมีรัฐบาลใดตั้งแต่ ตั้งกระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการเช่นนี้มาก่อน
ดิฉันจึงขอตั้งข้อสังเกตว่าการจัดระดับคุณภาพข้าวดังกล่าวเป็นการสร้างเรื่อง และสร้างพยานหลักฐานขึ้นใหม่ จงใจให้เห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่มีมาตรการที่เหมาะสมในการรักษาข้าวในสต็อกของรัฐเพื่อเอาผิดกับดิฉัน ทั้งในคดีนี้และคดีเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งต่อดิฉัน
ในที่สุดก็มีพยานหลักฐานสำคัญว่า การจัดคุณภาพข้าวโดยจัดระดับเกรด A B C เพื่อการระบายข้าวนั้นผิดพลาด ล้มเหลว และเกิดความเสียหาย จนทำให้หัวหน้า คสช. ในฐานะประธานกรรมการ นบข. เสนอให้ยกเลิกการระบายข้าวในสต็อกของรัฐแบบแบ่งเกรดกลับมาใช้วิธีการประมูลข้าวแบบขายยกคลัง เช่น ที่รัฐบาลดิฉันและทุกรัฐบาลเคยดำเนินการมา ปรากฏตามรายงานการประชุม นบข. ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559
แต่แล้วความผิดพลาดดังกล่าวไม่ได้ยุติลงแต่อย่างใด แต่นำมาสู่ปัญหาดังที่ศาลที่เคารพได้ทราบจากข่าวในขณะนี้ว่ามีการนำข้าวดีที่คนยังบริโภคได้ไปประมูลขายเข้าสู่อุตสาหกรรมเป็นอาหารสัตว์ ตามที่ดิฉันได้เคยร้องขอต่อศาลให้เผชิญสืบในเรื่องนี้แล้ว
ดิฉันจึงขอความเมตตาที่ศาลจะไม่รับฟังผลการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าว ที่โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมภายหลังนอกเหนือจากสำนวน ป.ป.ช. ด้วย

2) มีการอ้างเรื่อง การสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเพื่อใช้เป็นพยานเอกสาร ไว้ล่วงหน้านานหลายเดือน ทั้งๆ ที่การสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 จึงมีข้อพิรุธเสมือนโจทก์รู้ผลการสอบสวนล่วงหน้าว่าจะเป็นประโยชน์กับโจทก์ ในการที่จะนำมาเป็นหลักฐาน กล่าวอ้างเรื่องความเสียหายกับดิฉัน ซึ่งข้อพิรุธและความไม่เป็นธรรมนี้สอดคล้องกับข้อสั่งการของหัวหน้า คสช. ในฐานะประธาน นบข. ที่มีต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ที่สอบสวนเรียกค่าเสียหายต่อดิฉันว่า “โดยไม่ต้องพิจารณาประเด็นยุติธรรม” ปรากฏตามรายงานการประชุม นบข. ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558

3) เรื่อง การทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ในคดีที่กล่าวหาบุคคลอื่น ซึ่งมีการชี้มูลความผิดหลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดดิฉันแล้วนำพยานเอกสารกว่า 60,000 แผ่นในคดีดังกล่าว มาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีของดิฉันทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่โดยตรงของนายกรัฐมนตรีเสมือนจะทำให้เห็นว่าดิฉันมีความเกี่ยวพันกับความไม่ถูกต้อง
ถือเป็นการสร้างเรื่องและการเพิ่มพยานหลักฐานใหม่โดยมิชอบในลักษณะเอาตัวดิฉันมาดำเนินคดีไว้ก่อนแล้วค่อยหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นศาลภายหลัง นอกจากจะไม่เป็นธรรมแล้วถือเป็นการชี้นำการพิจารณาคดีของศาลและต่อสังคมว่าดิฉันเป็นผู้ผิดและต้องรับผิดชอบในความเสียหายทั้งๆ ที่คดีอาญายังไม่สิ้นสุด
โดยรัฐบาลปัจจุบันได้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารราวกับเป็นฝ่ายตุลาการเสียเองด้วยการออกคำสั่ง ทางปกครองสั่งให้ดิฉันชดใช้ค่าเสียหายถึง 35,000 แต่เพียงผู้เดียว ใช้อำนาจของ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยมิชอบและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับดังกล่าวและเมื่อวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมาได้ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 สั่งให้กรมบังคับคดียึดและถอนเงินในบัญชีธนาคารของดิฉันไปหมดแล้วถือเป็นการชี้นำสังคมให้เข้าใจดิฉันผิดเสมือนชี้นำคดีอย่างไม่เป็นธรรม
และดิฉันเชื่อว่าไม่มีใครที่ดำเนินนโยบายสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประเทศ แล้วถูกกระทำเช่นนี้มาก่อนต้องถูกยึดทรัพย์ก่อน ทั้ง ๆ ที่คดีอาญายังไม่ได้ตัดสินซึ่งขัดกับหลักยุติธรรมสากลและรัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 29 ที่ระบุว่า “...ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้...”
ดิฉันว่าคงไม่มีใครที่ต้องรับชะตากรรมที่หนักหนาและไม่เป็นธรรมมากเท่ากับดิฉันอีกแล้ว และคงไม่มีผู้นำคนใดที่จะกล้านำนโยบายมาดำเนินการเพื่อประชาชนอีกต่อไปค่ะ
ดิฉันขอกราบเรียนว่าจากการชี้มูลความผิด และการฟ้องคดีของโจทก์ด้วยเอกสารเพียงไม่กี่ร้อยแผ่นในคดีของดิฉันกลับมีเอกสารที่โจทก์นำมาเพิ่มขึ้นใหม่ในชั้นศาลถึง 60,000 กว่าแผ่น จึงมิใช่เป็นการเพิ่มเติมพยานตามสมควรแล้ว แต่กลับเป็นการเพิ่มเติมพยานหลักฐาน โดยไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
เพราะรัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 235 วรรค 6 ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ได้บัญญัติเป็นเงื่อนไขไม่ให้ ไต่สวนเพิ่มเติมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่ หากไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมอันขัดหรือแย้งต่อกฎหมายที่ศาลใช้ในการพิจารณาคดี ดิฉันจึงเห็นโดยสุจริตในฐานะของคนที่ตกเป็นจำเลย และควรจะได้รับสิทธิ์ในการดำเนินคดีว่าการพิจารณาพิพากษาคดีควรสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯ 2560 ที่บังคับใช้แล้ว
ด้วยความเคารพต่อศาล ดิฉันมีความจำเป็นต้องกล่าวไว้ ณ ที่นี้ แม้ว่าดิฉันได้ยื่นคำร้องต่อศาลนี้ถึง 3 ครั้ง เพื่อโต้แย้งและร้องขอสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่จำเลยในคดีอาญาต้องได้รับ ในการที่จะขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 แต่ศาลได้ยกคำร้องของดิฉัน ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีโอกาสวินิจฉัยสิทธิ์ของจำเลยที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ทำให้ดิฉันมีข้อสงสัยว่าจะยึดสำนวน ป.ป.ช. ตามที่กฎหมายกำหนดหรือยึดหลักฐานใหม่กว่า 60,000 แผ่น นอกสำนวน ป.ป.ช. อย่างไรก็ตามดิฉันขอวิงวอนต่อศาลที่เคารพได้โปรดอำนวยความยุติธรรม โดยมิต้องพิจารณาเอกสารกว่า 60,000 แผ่น ที่โจทก์เพิ่มเข้ามาในสำนวนเพื่อเป็นผลร้ายต่อดิฉัน
............................................................................................................

เรื่องที่ 2 นโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ และดำเนินการตามกฎหมาย
ข้อกล่าวหาของโจทก์ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งมีประเด็นที่ดิฉัน ขอแก้ข้อกล่าวหาและขอความเป็นธรรม ดังนี้
โครงการรับจำนำข้าวคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ และมีหลักการทางเศรษฐศาสตร์รองรับ การกำหนดนโยบายเป็นการดำเนินการต่อยอดโครงการรับจำนำข้าวในอดีต ที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 30 ปี
การกำหนดราคาข้าวเปลือกเจ้า ที่ราคา 15,000 บาท ที่ความชื้นไม่เกิน 15 % คณะรัฐมนตรีมีเจตนาดำเนินโครงการ เพื่อทำให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดสูงขึ้น และแก้ปัญหาหนี้สินของชาวนา ที่เรื้อรังยาวนานมาหลายสิบปี จึงมิใช่การดำเนินนโยบายเพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้ใดผู้หนึ่งตามที่กล่าวหาแต่เป็นการยกระดับรายได้ของชาวนา จำนวนกว่า 15 ล้านคน หรือกว่า 23% ของประชากรทั้งประเทศให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ด้วยรายได้ที่เทียบเคียงกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตด้วยเม็ดเงินที่หมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง
โครงการรับจำนำข้าวได้ถูกพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจทั้งในระดับรากหญ้าและระดับมหภาคมิได้ทำให้เกิดความเสียหาย ดิฉันจึงได้มุ่งมั่นตั้งใจที่จะดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จนโยบายรับจำนำข้าวเป็นการดำเนินนโยบายโดยสุจริตถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. เป็นการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามที่รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 84 (8) กำหนดไว้ให้รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ให้แก่ชาวนา กล่าวคือ
ชาวนาเป็นผู้ผลิตแต่ไม่สามารถกำหนดราคาได้กลับถูกกดราคาโดยพ่อค้าคนกลางมาโดยตลอด จึงต้องกำหนดราคารับจำนำที่ 15,000 บาท ที่ความชื้นไม่เกิน 15% เพื่อยกระดับราคาข้าวให้สูงขึ้นทั้งตลาด ซึ่งจะส่งผลให้คนที่เข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมโครงการได้รับประโยชน์ด้วย
อีกทั้งยังเป็นการยกระดับรายได้ของชาวนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
ดังนั้น เรื่องที่กล่าวหาว่าคณะรัฐมนตรีกำหนดราคารับจำนำข้าวสูงกว่าราคาตลาด และขายในราคาที่ต่ำกว่าราคารับจำนำนั้น
ดิฉันขอยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด และเกิดความเสียหายตามที่โจทก์กล่าวหาแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังกำไรกับชาวนา แต่เป็นการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตราบใดที่ประชากรยังมีความยากจน จึงเป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลที่จะต้องดูแล ซึ่งไม่ต่างกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ก็ยังต้องมีนโยบายหรือมาตรการในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย
2. เป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา อันมีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามตามรัฐธรรมนูญ ฯ 2550 มาตรา 75 มาตรา 176 และมาตรา 178 ซึ่งโจทก์เองก็ยอมรับในคำฟ้องว่าดิฉันมีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
3. เป็นการดำเนินการตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2555 ถึง 2558 ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและกฎหมายมีสภาพบังคับให้ดิฉันและคณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตาม
ดังนั้น การดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวจึงไม่ใช่การปฏิบัติราชการ ที่ขัดต่อนโยบาย หรือขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี
…………………………………………………………………………..

เรื่องที่ 3 ดิฉันไม่ได้เพิกเฉย ละเลย และไม่มีอำนาจระงับยับยั้งโครงการตามอำเภอใจ กระบวนการ ขั้นตอน และวิธีการบริหารนโยบายรับจำนำข้าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้
การดำเนินโครงการเมื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา ดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายไม่อาจดำเนินการหรือสั่งการได้โดยลำพัง จึงได้กำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ และวิธีการ ในการดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการเพื่อ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ เพราะการดำเนินโครงการ มีความเกี่ยวข้องกับกระทรวง กรม ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจต่างๆ จำนวนมาก อีกทั้งเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบที่มีอยู่หลายฉบับ ที่ดิฉันเองในฐานะนายกรัฐมนตรีไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้โดยลำพัง
ดิฉันจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ กขช. และคณะอนุกรรมการต่าง ๆ โดยเฉพาะงานแต่ละด้าน กว่า 13 คณะ เพื่อ “การบูรณาการ” ในการร่วมกันพิจารณากำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ แผนงานในการขับเคลื่อนให้หน่วยราชการเห็นชอบ ซึ่งรวมถึงหน่วยงานหลักที่สำคัญ และมีหน้าที่ความรับผิดชอบอยู่แล้ว เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานปฏิบัติอย่างระดับกระทรวง กรม ล้วนไม่เคยมีข้อท้วงติงหรือให้ยุติหรือระงับยับยั้งโครงการ
การบริหารโครงการรับจำนำข้าวเป็นไปภายใต้ “ข้อจำกัดของการใช้อำนาจ” เพราะทุกหน่วยงานในระบบราชการบูรณาการการทำงาน โดยมีกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพหลัก รวมทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการ กขช. และคณะอนุกรรมการกว่า 13 คณะ อันเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่ายและตามสายงานการบังคับบัญชาที่มีอยู่ เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
ดิฉันได้แสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งด้วยการกำหนดให้มีแนวทางในการป้องกันการทุจริต และป้องกันความเสียหายที่ดิฉันได้ให้นโยบายและสั่งการในที่ประชุม กขช. ครั้งแรก ก่อนเริ่มดำเนินโครงการให้กับคณะทำงานและฝ่ายปฏิบัติว่า “ให้เคร่งครัดในเรื่องกระบวนการของข้าวให้เกิดความสุจริต โปร่งใส และสั่งการให้มีการบูรณาการและปรับปรุงระบบกระบวนการรับจำนำข้าวให้เกิดความสุจริตและโปร่งใส นำความชอบธรรมและความชัดเจนกับทุกหน่วยงาน และเน้นย้ำว่าการดำเนินงานในส่วนที่ผ่านมามีสิ่งใดคงค้างให้นำมาปรับปรุงและแก้ไขให้เสร็จสิ้น ให้มีการดูแลในเรื่องการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้น” ซึ่งศาลที่เคารพสามารถตรวจสอบได้จากรายงานการประชุม กขช. ครั้งที่ 1/2554
ดังนั้นเมื่อเริ่มดำเนินการก็มีการกำหนดขั้นตอนและกระบวนการให้เกิดการคานอำนาจและถ่วงดุลมีการติดตามตรวจสอบตามระเบียบของการบริหารราชการแผ่นดินอันเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีทำแผนงาน โครงการตามเป้าหมายจึงไม่สามารถที่จะยกเลิก และเปลี่ยนแปลงได้ตามอำเภอใจในลักษณะที่นึกจะทำก็ทำหรือนึกจะเลิกก็เลิก เพราะที่มาของโครงการฯ ก็มีกระบวนการตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายผูกพันให้ต้องปฏิบัติ
ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติอย่างหนึ่งอย่างใดในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ภายใต้หลักการถ่วงดุลตามที่กล่าวมาและในการประชุม กขช. ครั้งแรก ดิฉันก็ได้ให้นโยบายและมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ ดังนั้นการประชุมคณะกรรมการ กขช. ในครั้งต่อ ๆ มา
ดิฉันในฐานะประธาน กขช. ไม่ได้ละเลยและไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะดิฉันได้มอบหมายให้บุคคลระดับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นประธานในการประชุม กขช. แต่ละครั้ง เพราะจะใกล้ชิดติดตามงานได้ดีกว่าดิฉันที่มีภารกิจอีกมากมาย หากมีประเด็นพิจารณาใดย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่จะมารายงานต่อคณะรัฐมนตรีและดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
ดิฉันขอกราบเรียนว่า ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีมีความรับผิดชอบร่วมกัน แต่โจทก์เข้าใจผิดว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มในมือคนๆ เดียว และจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ดิฉันขอเรียนว่า แม้ดิฉันเป็นนายกรัฐมนตรีแต่ในการปฏิบัติงาน กระทรวงและส่วนราชการที่ปฏิบัติงานร่วมกับคณะกรรมการ กขช. และคณะอนุกรรมการต่าง ๆ มีหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมายของแต่ละฝ่ายกำกับไว้อยู่แล้วดิฉันจึงไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจ และไม่อาจกระทำการใด ๆ ที่จะไปล้วงลูกสั่งการ หรือชี้นำในระดับปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ของผู้หนึ่งผู้ใด
แม้กระทั่งผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็คงเข้าใจถึงข้อจำกัดนี้ดี จึงต้องการอำนาจพิเศษ คือ มาตรา 44 ในการสั่งงาน บริหารราชการแผ่นดินที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างรัฐบาลของดิฉันไม่สามารถทำได้
…………………………………………………………………..

เรื่องที่ 4 
การไม่ระงับยับยั้งโครงการ เนื่องจากโครงการมีประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายตามฟ้อง
การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแต่โครงการมีความคุ้มค่าไม่เป็นภาระต่องบประมาณที่เกินสมควรหรือเป็นปัญหาต่อหนี้สาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่เสียวินัยการเงินและการคลังของประเทศจนกระทั่งต้องระงับหรือยุติโครงการ
ดิฉันขอเรียนว่า
การดำเนินโครงการมีประโยชน์และมีความคุ้มค่าต่อการดำเนินภารกิจภาครัฐ ตามที่กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินความคุ้มค่าที่ต้องไม่คำนึงเฉพาะรายจ่ายหรือประโยชน์ที่คำนวณเป็นตัวเงินได้เฉพาะของโครงการเท่านั้นแต่ต้องพิจารณาถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศและประโยชน์อื่น ๆ โดยรวมที่สังคมได้รับจากโครงการนั้นด้วย
เพราะภารกิจของภาครัฐมิใช่กระทำเพื่อแสวงหากำไร แต่เป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ตามที่กำหนดไว้ในแผนการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งถือเป็นเรื่องสาระสำคัญที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และโจทก์ มิได้พิจารณาถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศและประโยชน์อื่นๆ ของโครงการและไม่สามารถหักล้างพยานของดิฉันว่าโครงการมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งที่คำนวณเป็นตัวเงินได้และประโยชน์อื่นๆ ดังนี้
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 คณะกรรมการ กขช. ได้มีการรายงานประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมทั้งประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของโครงการรับจำนำข้าว ฤดูกาลผลิต 2554/55 และฤดูกาลผลิต 2555 รวม 394,788 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าตัวเลขที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ อ้างว่าขาดทุนทางบัญชี 220,969 ล้านบาท อยู่ที่ 173,819 ล้านบาท
วันที่ 18 มิถุนายน 2556 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่รายงานตรงถึงดิฉันยืนยันว่าโครงการสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวนาเพิ่มขึ้น และระบุว่า มีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการรับจำนำข้าวจนถึงปี 2558 ซึ่งประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับตัวและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เข้มแข็งเพียงพอ
โครงการรับจำนำข้าวได้สร้างความมั่นคงทางรายได้และสร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกร ตามที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายไว้จริงมีหลักฐานปรากฏตามรายงานวิจัยของมหาวิทยาลัยบูรพา ที่ได้ประเมินโครงการไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2555 และผลการสำรวจของ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556
ผลการวิจัยของคณะวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตลอด 5 ฤดูกาลผลิต ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวม ขยายตัว 3.726 รอบ หรือมีมูลค่าผลรวมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1,088,697 ล้านบาท หรือมากกว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปและงบประมาณที่ต้องชดเชยในโครงการจากพยานหลักฐานและตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงความคุ้มค่าของโครงการอย่างชัดเจน
ในระหว่างการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวทำให้เกิดกำลังซื้อในภาคครัวเรือนมากขึ้นส่งผลให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีต่างๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มปรากฏตามหลักฐานที่ได้อ้างต่อศาลแล้ว
กราบเรียนองค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ
ดิฉันขอกราบเรียนว่าแม้รายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี ครั้งที่ 3 ที่อ้างผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวแต่คณะกรรมการ กขช. และคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นก็ได้รับทราบถึงประโยชน์ความคุ้มค่าและความจำเป็นในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวตามที่กล่าวมาจึงไม่มีการเสนอให้ดิฉันยุติหรือระงับยับยั้งโครงการ
นอกจากนี้ ปรากฏหลักฐานสำคัญจากคำเบิกความของนางสาวสุภา ปิยะจิตติ พยานโจทก์ผู้ทำหน้าที่จัดทำรายงานดังกล่าวรับต่อศาลว่า “ผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจที่ไม่เป็นตัวเงิน และผลประโยชน์ที่เป็นทางอ้อมไม่ใช่หน้าที่ของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีแต่เป็นหน้าที่ของสภาพัฒน์” ซึ่งสภาพัฒน์ก็มีความเห็นเสนอต่อดิฉันและคณะรัฐมนตรีว่าโครงการสามารถทำให้ชาวนามีรายได้ที่สูงขึ้น และมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการจนถึงปี 2558 ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว
การดำเนินโครงการเป็นไปตามกรอบกฎหมายและกรอบเพดานหนี้สาธารณะ จากคำเบิกความของนางสาว ศิรสา กันต์พิทยา เจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง พยานโจทก์ที่ให้การในชั้น ป.ป.ช. และเบิกความในชั้นศาล ยืนยันว่า “การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวตลอด 5 ฤดูกาลผลิตเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายบัญญัติและกรอบเพดานหนี้สาธารณะ” รวมทั้งเอกสารแผนการบริหารหนี้สาธารณะที่คำนวณสัดส่วนหนี้สาธารณะ ต่อ GDP และสัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณ ว่าเป็นไปตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้การใช้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันและเงินทุน ธ.ก.ส. เป็นไปตามกรอบเงินทุนหมุนเวียนที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยมีพยานหลักฐานสำคัญ คือ
1) ก่อนหน้าวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่รัฐบาลดิฉันพ้นหน้าที่กระทรวงการคลังได้รายงานสถานะเงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันและเงินทุน ธ.ก.ส. เป็นไปตามกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยยังคงเหลือ 13,244 ล้านบาท ส่วนเงินทุน ธ.ก.ส. ยังคงเหลืออยู่อีก 22,951 ล้านบาท ปรากฏตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557
2) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 กระทรวงการคลังได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลปัจจุบันโดยยืนยันว่าสถานะหนี้คงค้างจากการดำเนินโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร ปีการผลิต 2554/55 ถึง ปีการผลิต 2556/57 ทั้งในส่วนเงินกู้ ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันและเงินทุน ธ.ก.ส. อยู่ภายในกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
3) ในขณะดำเนินคดีโจทก์ได้มีหนังสือถึงสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสอบถามถึงการใช้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ซึ่งโจทก์ได้รับการยืนยันถึง 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 และเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 ว่า การใช้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ยังคงอยู่ในกรอบตามที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 เช่นกัน
อีกทั้ง นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ฝ่ายนโยบายรัฐพยานโจทก์ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงได้เบิกความยืนยันต่อศาลว่าในส่วนเงินทุน ธ.ก.ส. จำนวน 90,000 ล้านบาท ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีทุกประการ
ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า
1) โครงการรับจำนำข้าวมีประโยชน์ มีความคุ้มค่า
2) การดำเนินโครงการ ยังเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายบัญญัติ เป็นไปตามกรอบเพดานหนี้สาธารณะและรักษาวินัยการเงินการคลัง
3) ไม่มีหน่วยงานใดที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินโครงการเสนอต่อดิฉันและคณะรัฐมนตรีให้ยุติหรือระงับยับยั้งการดำเนินโครงการ
4) เนื่องจากการดำเนินโครงการไม่ขัดต่อนโยบายมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมาย
ดังนั้น จะให้ดิฉันใช้อำนาจนายกรัฐมนตรียุติหรือระงับยับยั้งโครงการได้อย่างไร
......................................................................................................................

เรื่องที่ 5 ดิฉันไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดหรือโดยทุจริตตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาหรือ มาตรา 123/1 พ.ร.บ. ป.ป.ช.
ในกรณีที่ ป.ป.ช. และ สตง. มีหนังสือท้วงติงมายังรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า 2 หน่วยงานดังกล่าวไม่มีภารกิจและหน้าที่ตามกฎหมายที่จะสั่งให้ฝ่ายบริหารยับยั้ง การดำเนินนโยบายสาธารณะ ที่ได้แถลงต่อรัฐสภานอกจากนั้น สตง. และ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการและยังใช้ข้อมูลจากการเสนอข่าว โดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องซึ่งไม่มีกฎหมาย ใด ๆ บังคับให้ฝ่ายบริหารต้องยับยั้งโครงการตามหนังสือของ 2 หน่วยงานดังกล่าว..

..ยังมีต่อ..

แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=908270589311275&id=100003850270527