วันเสาร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2557

ฤๅ..จะรุนแรงขึ้น จาก "ไม้หนึ่ง ก.กุนที"


















คดีคนร้ายยิง นายกมล ดวงผาสุก  หรือ  "ไม้หนึ่ง ก.กุนที"   กวีเสื้อแดง และแกนนำกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล เสียชีวิตที่ลานจอดรถร้านอาหารครกไม้ไทยลาว ซอยลาดปลาเค้า 24 เขตลาดพร้าว กทม. เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา  กลายเป็นความรุนแรงทางการเมืองที่หลายฝ่ายเกิดความวิตกกังวล... 

โดยเฉพาะ จรัล ดิษฐาอภิชัย ที่ปรึกษารองนายกฯ ออกมาระบุว่าการตายของนายกมลทำให้หวนถึงเหตุการณ์ทางการเมืองหลัง 14 ตุลาคม 2516 เมื่อขบวนการประชาชน และนักศึกษาเติบโต ก็เริ่มมีการไล่ล่าจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเป็นระบบ โดยนายแสง รุ่งนิรันดรกุล นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นรายแรกที่ถูกฆ่าในเดือนกรกฎาคม 2517 เพราะเจ้าหน้าที่ปักใจเชื่อว่านายแสงเป็นคอมมิวนิสต์ และจัดตั้งนักศึกษาให้เคลื่อนไหว หลังจากนั้นขบวนการไล่ล่านักศึกษาและปัญญาชนก็เริ่มขึ้น ทั้งยังมีกรรมกรและชาวนาถูกฆ่าเป็นจำนวนมาก 

"อาจารย์บุญสนอง บุญโยทยาน" เลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ถูกยิงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2519   เป็นศพสุดท้ายก่อนจะเกิดเหตุการณ์ล้อมฆ่าหมู่นักศึกษา วันที่ 6 ตุลาคม 2519 

กรณี "ไม้หนึ่ง" ก็เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองสูง...จึงน่าเป็นห่วงว่า ฤดูกาลไล่ล่าคนเสื้อแดงกำลังเริ่มต้น?

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ไม่รู้ว่าจะเป็นการสังหารเพียงรายหรือสองรายเพื่อข่มขู่เช่นเดียวกับในกรณีของนายขวัญชัย ไพรพนา หรือจะเป็นการกระทำในลักษณะเดียวกับช่วงปี 2518-19 จนถึง 6 ตุลา 19 นักวิชาการ ผู้นำนักศึกษา ผู้นำกรรมกร และผู้นำชาวนา ถูกยิงตายรวมกันกว่าร้อยศพ เป็นข่าวเกือบทุกสัปดาห์ ติดต่อกันเป็นเวลาปีกว่า ตายเหมือนใบไม้ร่วง และจับคนยิงไม่ได้เลยแม้แต่รายเดียว เป็นการลอบสังหารทางการเมือง คาดว่าเป็นฝีมือหน่วยล่าสังหารในยุคนั้นที่ไล่ฆ่าตามบัญชีรายชื่อที่เตรียมไว้

ประเด็นที่เกิดอดีต เปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแล้ว...สถานการณ์จะหวนกลับไปยังอดีตอีกครั้งหรือไม่ ?

อาจารย์สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง มองว่า ไม่น่าจะเป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรงในภายภาคหน้าได้ 

"ผมคิดว่าอาจจะเป็นความคิดเก่าของคนที่คิดแบบเดิม แต่คงไม่เวียนกลับไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร ฉะนั้นตรงนี้น่าจะเป็นการขู่อีกฝ่าย การกระทำครั้งนี้น่าจะเป็นคนละจุดมุ่งหมาย 

"สมัยก่อนสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การปฏิวัติ แต่ว่าการที่จะเก็บอีกฝ่ายเพื่อหวังว่าอีกฝ่ายจะเลิก ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำว่าอีกฝ่ายกระทำ อีกฝ่ายจะไม่กล้า 

"คนอาจจะตีความไปในทางการเมืองเพราะไม้หนึ่งมีบทบาทและค่อนข้างแสดงตัวชัดเจน ส่วนจะนำไปสู่ความรุนแรงหรือไม่นั้น ไม่ทราบ เพราะทุกวันนี้ก็รุนแรงอยู่แล้ว ประชาชนต้องหาข่าวดูว่าใครโดนยิงที่ไหนบ้าง หรือใครไปยิงอะไรที่ไหนบ้าง และคนจะมีความรู้สึกเหมือนธรรมดาไปแล้วกับความรุนแรง ก็คือมีการฆ่าฟันกันตายไปหลายศพ ตั้งแต่เกิดการชุมนุม ก็เกิดระเบิดตลอด เพียงแต่ว่าคนรู้สึกว่ามันไม่ได้ใหญ่อย่างที่คิด สิ่งที่คนกลัวก็คืออย่ายกพวกตีกันนะ อย่ายกพวกมาปะทะกันนะ ซึ่งการตายของไม้หนึ่ง ไม่น่าจะเป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรง เป็นเรื่องใหญ่โตขึ้น" 





สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์จุฬาฯ กล่าวว่า เป็นความพยายามทำให้คนหวาดกลัวเพิ่มขึ้น                  แต่เหตุการณ์เหมือน 6 ตุลา 2519 คงไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดการกวาดล้าง ปราบปรามความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็มีส่วนช่วยในการปูทางไปสู่ความรุนแรง ซึ่งเราเห็นผลลัพธ์แล้ว ส่วนในครั้งนี้ความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ เงื่อนไขเวลาต่างๆ ไม่คิดว่าจะเหมือนกัน เพราะทำแบบนี้แล้วคนเสื้อแดงก็ไม่กลัว ไม่เหมือนเมื่อเหตุการณ์ 6 ตุลาที่ทำให้คนกลัวได้และคิดว่าไม่น่าจะมีรัฐประหารขึ้น เพราะไม่สอดคล้องกับกระแสการเมืองของโลกแล้ว 

"ปีนี้ผมไม่คิดว่าจะมีรัฐประหาร ไม่เชื่อลองดูว่าประเทศไหนในโลกนี้บ้างที่ตอนนี้ยังทำรัฐประหารอยู่ ถ้าเราทำ เราก็จะกลายเป็นประเทศบิดๆ เบี้ยวๆ ดูเลยว่าประเทศไหนทำรัฐประหารในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาไม่มีแล้วที่จะทำรัฐประหารกัน ไม่มีประเทศไหนแก้ปัญหากันด้วยการรัฐประหาร คนทำรัฐประหารในตอนนี้ล้าหลังมาก เหมือนคนเชื่อว่าโลกแบนเพราะการทำรัฐประหารแก้ปัญหาอะไรไม่ได้"

การลุกฮือของคนเสื้อแดงอาจไม่ได้มีเงื่อนไขมาจากเหตุการณ์ของคุณไม้หนึ่งอย่างเดียว เพราะประเทศไทยที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางประชาธิปไตยมากขึ้น หมายความว่าคนที่คิดเห็นไม่เหมือนกัน คิดต่างกันจะมาต่อสู้ทางการเมืองกันได้ในกฎกติกาที่ชัดเจนคือระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ยอมรับความคิดต่างและเราต่อสู้กันในระบอบนั้น มีกฎเกณฑ์ มีกติกา เพราะฉะนั้นคิดว่าถ้าประเทศเดินหน้าไปในทิศทางประชาธิปไตยได้ การลุกฮือของคนเสื้อแดงก็จะไม่เกิดขึ้น สุธาชัยกล่าวทิ้งท้าย


จากหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2557