วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556

แรงต้าน 2 เด้ง "นิรโทษฯ" ฉบับสุดซอย ล้างผิด 2 ขั้ว ทั้ง คนสั่งฆ่าม็อบ-ทักษิณ


      




        การพลิกโฉม แปลงกาย "ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ที่เสนอโดย วรชัย เหมะส.ส.สมุทรปราการ และคณะ ในแบบ"หักดิบ"   จากนิรโทษกรรมให้เฉพาะประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง  แผ่ขยายออกไปถึงผู้สั่งการ เจ้าหน้าที่ และผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิด โดยคตส.อันเป็นกลไกของคณะรัฐประหาร   2549  เป็นผลงานการเสนอของ"หัวเขียง" ประยุทธ ศิริพาณิชย์ อดีตส.ส.มหาสารคาม  ก่อให้เกิดความขัดแย้งในเครือข่ายพรรคเพื่อไทยอยู่ในขณะนี้ 

      กลุ่มสนับสนุนให้นิรโทษฯ ตามแนวทางของ"หัวเขียง" ประยุทธ ศิริพาณิชย์  อดีตส.ส.มหาสารคาม  ได้แก่ แกนนำพรรค ที่นำโดย เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ หรือเจ๊แดง
      ขณะที่ส.ส.ระดับแกนนำ ออกอาการกระอักกระอ่วนฟีลแบบ"กลืนไม่เข้าคายไม่ออก"  ที่ทำให้เกิดปัญหาในการผลักดัน ก็คือ การที่อานิสงส์ของการล้างผิด จะครอบคลุมไปถึง "ผู้สั่งการ" ในเหตุการณ์สังหารประชาชนเมื่อปี 2553 

       คนเสื้อแดงพกความเคียดแค้น ถามหาความยุติธรรม รอคอยการตัดสินคดีนี้มาอย่างยาวนานเทคะแนนโหวตให้พรรคเพื่อไทยอย่างท่วมท้น เพื่อเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้    
จากยุคหนึ่งที่คดีโดนดอง ระหว่างปี 2553-2554 จนกระทั่งเปลี่ยนรัฐบาล เป็นพรรคเพื่อไทย นายกฯ เปลี่ยนมาเป็นน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 
       การไต่สวนสาเหตุการตายที่ดำเนินการในศาลยุติธรรม ปรากฏผลชัดขึ้นเรื่อยๆ เคลียร์ไปทีละประเด็น  คนตายในสถานที่ต่างๆ เพราะกระสุนปืนเจ้าหน้าที่ ไม่มีชายชุดดำ ผู้วางเพลิงเผาห้างยักษ์ ไม่ใช่คนเสื้อแดงที่ถูกจับตัว  คืบหน้าเข้าใกล้ตัวผู้บงการทุกขณะ  แล้วอยู่ๆ จะเกิดรายการเททิ้งไปทั้งแผง ข่าวการนิรโทษฯ จึงสร้างความอึดอัดให้กับคนเสื้อแดง ส.ส.ในพรรคที่ผูกพันกับชะตากรรมของเหยื่อการสลายม็อบ 
     
         อีกทางหนึ่ง กม.นิรโทษ ฯจะยกเลิกความผิดของผู้ถูกดำเนินคดีโดยคตส. ซึ่งถือว่า เป็น"กลไก""ที่คณะรัฐประหารสร้างขึ้น โดยหลักสากลแล้ว การดำเนินคดีโดยกลไกพิเศษ นอกเหนือจากกระบวนการยุติธรรมปกติ ไม่เป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว  กลุ่มที่จะได้อานิสงส์ เบอร์ต้นๆได้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากคดีที่ดินรัชดา และคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน
         เมื่อมีชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ต้องสงสัยว่าจะเรียกแขกให้เข้ามาร่วมงานนี้ได้เป็นโขยงแน่นอน
         ทั้งแขกที่มองเห็น  มองไม่เห็น แขกทีประสงค์ออกนาม และไม่ประสงค์ออกนาม


(ภาพประกอบ)


        ปัญหาของกม.ฉบับสุดซอย-ยกเข่ง  ก็คือ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษฯ ของวรชัย เหมะ  เริ่มต้นจากนิรโทษให้ประชาชน
         การที่อยู่ๆ หักมุมให้ส่งผลนิรโทษถึงกลุ่มอื่น ถือเป็นวิธีดำเนินการที่ทำให้เกิดเสียงโต้แย้งได้

        แม้จะอ้างว่า การนิรโทษฯเฉพาะกลุ่ม อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ก็ฟังได้ยาก และพูดช้าเกินไป        หากจะนิรโทษฯทั้งหมด ก็ต้องเขียนหลักการและเหตุผลของกฏหมายให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น บอกกล่าวกับสังคม และสภาฯให้ชัดเจน ตรงไปตรงมา
        นั่นคือหลักการสำคัญในการพิจารณาถึงความเหมาะสมชอบธรรมของร่างพ.ร.บ.นี้
        แต่การคัดค้านร่างสุดซอยนี้ มุ่งไปที่ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ มากกว่า         สุดท้ายพรรคเพื่อไทย ก็ต้องมาประเมินว่า จะยอมหักหลักการสำคัญ เพื่อขยายผลการนิรโทษกรรมออกไปหรือไม่
        ทางถอยยังมี เพราะการพิจารณาในวาระ 2 สภาจะต้องโหวตว่า จะให้เป็นไปตามร่างเดิม ของนายวรชัย  หรือให้เป็นไปตามแนวของ"หัวเขียง"
        และมีส.ส.ในพรรคไม่น้อยที่พยายามคัดง้าง ผลักดันให้เป็นไปตามร่างของนายวรชัย ส่วนจะขัดรัฐธรรมนูญอย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องข้อเท็จจริงในอนาคต
         ที่แน่ๆ การตัดสินใจในประเด็นนี้ จะส่งผลต่ออนาคตของพรรคเพื่อไทยต่อไป        

วันที่ 23 ตุลาคม 2556