ประชาไท: อดีตคณบดีนิติ มธ. ชี้ ตุลาการ รธน. ละเมิดรธน. เสียเอง เสนอเข้าชื่อถอดถอน
พนัส ทัศนียานนท์ |
2 มิุุถุนายน 2555
พนัส ทัศนียานนท์ – ปิยบุตร แสงกนกกุลชี้ ตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งสภาผู้แทนราษฎรระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน เป็นคำสั่งที่ละเมิดรัฐธรรมนูญเสียเองและขัดต่อหลักแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย เสนอล่าชื่อถอดถอน ด้านพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล แจงวุฒิสมาชิกลงคะแนน 3 ใน 5 ถอดตุลาการรัฐธรรมนูญได้
ภายหลังตุลาการรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 รับคำร้องพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังดำเนินนั้นมีลักษณะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งยังมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งรัฐสภาระงับการดำเนินเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าศาลมีคำวินิจฉัยด้วย
โดยนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยนายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ได้ร่วมกันแถลงว่า “เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ศาลมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งรัฐสภาระงับการดำเนินเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าศาลมีคำวินิจฉัย นอกจากนี้ ให้ ครม. , รัฐสภา, พรรคเพื่อไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา, นายสุนัย และนายภราดร มีหนังสือชี้แจงต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งสำเนาคำร้องและนัดคู่กรณีไต่สวนวันที่ 5-6 ก.ค.2555 เวลา 09.30 น. ซึ่งตุลาการจะเป็นการออกนั่งบัลลังก์ และหากไต่สวนได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้ว คณะตุลาการก็อาจนัดวันฟังคำวินิจฉัยได้เลย แต่หากข้อเท็จจริงยังไม่ครบถ้วนก็อาจไต่สวนเพิ่มเติมได้"
ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ ส่งผลสะเทือนต่อระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 3 ประการคือ
1 ต่อไปนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้กุมชะตากรรมของ "การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ" ทุกครั้ง
2 ลำดับชั้นของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ จะเสียไปทั้งหมด
3 การสั่งให้สภาระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ชั่วคราว ไม่มีรัฐธรรมนูญเขียนไว้เลย แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังสามารถไปเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ นั่นหมายความว่า อนาคตอาจมีอีก
“ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้นมาเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ กลับเป็นองค์กรที่ละเมิดรัฐธรรมนูญเอง แล้วจะทำอย่างไร?” นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ตั้งคำถาม
ขณะที่นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง แสดงความเห็นว่าการวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ และเสนอให้รวบรวมรายชื่อเพื่อถอดถอน และได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กในคืนวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า
“การที่ศาลรธน.มีคำสั่งให้สภาผู้แทนราษฎรระงับการพิจารณาร่างแก้ไข รธน.มาตรา 291 ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการก้าวก่ายการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตุลาการที่ออกคำสั่งดังกล่าวจึงมีลักษณะเข้าข่ายที่อาจถูกถอดถอนตามบทบัญญัติมาตรา 270 ได้ ฉะนั้น จึงขอเสนอให้มีการรณรงค์เพื่อร่วมกันเข้าชื่อถอดถอนตามกระบวนการที่รธน.บัญญัติไว้”
“รัฐสภาคือตัวแทนอำนาจสูงสุดของประชาชน จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยเรื่องอำนาจกนิติบัญญัติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด ตามหลักการประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของอังกฤษ ซึ่งเราถือเป็นแบบอย่าง เขาถือว่ารัฐสภามีอำนาจสูงสุดตามหลัก Supremacy of Parliament”
อย่างไรก็ตาม นายพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล นักศึกษากฎหมายได้แสดงความเห็นว่า คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเสียเองนั้นย่อมไม่มีผลผูกพันบรรดาองค์กรต่างๆ ของรัฐ และเห็นว่าจะต้องแสดงความไม่ยอมรับต่อคำวินิจฉัยดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะเป็นการทำลายระบบในระยะยาว โดยผู้มีอำนาจในการถอดถอนตุลาการัฐธรรมนุญนั้นทำได้โดยวุฒิสภา ด้วยเสียง 3 ใน 5 ตามมาตรา 209 (6) ประกอบมาตรา 274 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย.พ.ศ. 2550
"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ" ตามมาตรา 216วรรคห้า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ย่อมหมายถึงเฉพาะ 'คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ' เท่านั้นครับ หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเสียเองแล้ว ย่อมเป็น "คำวินิจฉัย" ที่ปราศจากฐานรองรับตามรัฐธรรมนูญ (unconstitutional actions) เช่นนี้ "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเช่นว่านั้น" ย่อมไม่ผูกพัน 'บรรดาองค์กรใดๆของรัฐ' ตามมาตรา 216 วรรคห้า ซึ่งการไม่ผูกพันสามารถแสดงออกโดยผ่านวิธี "เพิกเฉย" (ignored) ต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเช่นว่านั้น ไม่ยอมบังคับผูกพันต่อคำวินิจฉัยที่ขัดรัฐธรรมนูญ นี่เป็นวิธีกระทำต่อตัวคำวินิจฉัย (นอกไปจากวิธีลบล้างโดยอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ) (efficacy as condition of validity) แต่ถ้ากระทำต่อตัว 'ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ' ก็ต้องถอดถอนโดยวุฒิสภา ตามมาตรา 209 (6) ประกอบมาตรา274 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
“นี่เป็นวิธีการอย่างเร็วในการยับยั้งอำนาจศาลรัฐธรรมนูญนะครับ ถ้าไป "รับตามคำบังคับ" มันจะเป็นคำสั่งที่จะดำรงอยู่ในระบบกฎหมายต่อไป และระบบจะไม่เป็นระบบ จะไม่สามารถอธิบายในทางหลักวิชาได้เลย และทำลายโครงสร้างทั่วไปของ รัฐธรรมนูญในที่สุดครับ”
ที่มาของมติตุลาการรัฐธรรมนุญมาจากคำร้องของ 1.พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และกลุ่ม 40 ส.ว. 2.นายวันธงชัย ชำนาญกิจ 3.นายวิรัตน์ กัลยาศิริ 4. นายวรินทร์ เทียมจรัส 5.นายบวร ยสินทร และคณะ ที่ยื่นหนังสือให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา นายสุนัย จุลพงศธรและคณะ และนายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
โดยคำร้องดังกล่าวขอให้ตุลาการวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่
สำหรับคณะตุลาการรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน เป็นคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดที่ 3 ของไทย จัดตั้งขึ้นตามความในมาตรา 300 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
ตุลาการรัฐธรรมนูญชุดแรกถูกยุบไปภายหลังจากที่มีจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ภายหลังจากการรัฐประหาร ได้มีการตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นชุดที่ 2 โดยมีอำนาจตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และต่อมามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งมาตรา 300 ได้กำหนดให้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็น ศาลรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ภายหลังจากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550
หมายเหตุ
รัฐธรรมนูญ มาตรา 209 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(1) ตาย
(2) มีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์
(3) ลาออก
(4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 205
(5) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา207
(6) วุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง
(7) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(1) ตาย
(2) มีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์
(3) ลาออก
(4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 205
(5) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา207
(6) วุฒิสภามีมติตามมาตรา 274 ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง
(7) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นกรณีที่คดียังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
เมื่อมีกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ภายใต้บังคับมาตรา 216
รัฐธรรมนูญมาตรา 274 สมาชิกวุฒิสภามีอิสระในการออกเสียงลงคะแนนซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ มติที่ให้ถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่ง ให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
ผู้ใดถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งหรือให้ออกจากราชการนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติให้ถอดถอน และให้ตัดสิทธิผู้นั้นในการดำรงตำแหน่งใดในทางการเมืองหรือในการรับราชการเป็นเวลาห้าปี
มติของวุฒิสภาตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด และจะมีการร้องขอให้ถอดถอนบุคคลดังกล่าวโดยอาศัยเหตุเดียวกันอีกมิได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
อ่านเพิ่มเติม