หนังสือต้องห้าม : เอาชนะความกลัวพระบรมเดชานุภาพ
(Overcoming Fear of Monarchy in Thailand )
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
5 เมษายน 2554
หนังสือ เอาชนะความกลัวพระบรมเดชานุภาพ: Overcoming Fear of Monarchy in Thailand เขียนโดยจรรยา ยิ้มประเสริฐ นักกิจกรรมด้านแรงงาน ( เธอไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆกับดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เพียงแต่นามสกุลพ้องกัน และอุดมคติคล้ายกัน )
จรรยาเปิดเผยว่า หนังสือฉบับนี้เขียนขึ้นมาด้วยจุดประสงค์เพื่อถอดมายาภาพที่ปรุงแต่งแวดล้อมสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อที่ประชาชนในประเทศไทย จะได้ปฏิบัติตัวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในฐานะแห่งมนุษย์ที่เคารพในศักด์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน
เป็นการเขียนด้วยความรักในประเทศชาติ เป็นการเขียนเพื่อต้องการเห็นทั้งสังคมไทยพัฒนาก้าวหน้า เป็นสังคมแห่งการใช้เหตุผล เป็นสังคมที่คนทั้งสังคมสามารถใช้ภูมิปัญญาและองค์แห่งความรู้ (อันจำเป็นยิ่งในสภาวะแห่งวิกฤติธรรมชาติในปัจจุบัน) เพื่อพัฒนาขับเคลื่อนไปด้วยกันด้วยความรัก ความเข้าใจ มุ่งหน้าสู่เส้นทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เคารพทุกวิถีชีวิต วิถีการพัฒนาที่เคารพ รักษาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และเคารพในความหลากหลายของทุกสรรพสิ่ง
การจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ สังคมต้องเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นและคำวิพากษ์วิจารณ์ของทุกฝ่าย ในสิ่งที่คิดว่าไม่สอดคล้องกับตรรกะแห่งเหตุผลด้วยเหตุผล โดยเฉพาะต่อกลุ่มบุคคลที่อยู่ภายใต้การดูแลของงบประมาณของแผ่นดิน 2,000,000,000,0000 บาท (สองล้านล้านบาท) ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ นายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทน วุฒิสมาชิก และผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการใช้งบประมาณแผ่นดินทุกคน
หนังสือเล่มนี้ด้วยหลักฐานอ้างอิงมากมายของแหล่งที่มาของข้อมูล มันคืองานวิชาการชิ้นหนึ่งที่ไม่ควรถูกแบน หรือถูกเซ็นเซอร์ หรือถ้าหนังสือเล่มนี้จะเป็นหนังสือต้องห้าม ข้าพเจ้าได้เขียนไว้ที่คำโปรยหลังว่า . .
"เมื่อการใช้เสรีภาพในการพูดหรือนำเสนอความคิดเห็นด้วยความบริสุทธิ์ใจต่อบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อการเมืองไทย เพราะต้องการเห็นประชาชนในประเทศไทยมีสิทธิ เสรีภาพ และมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ในการกำหนดอนาคตที่ดีกว่านี้ ของตัวเองและของลูกหลาน ถูกนิยามว่าเป็นอาชญากรรมที่ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ประชาชนไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจำเป็นจะต้อง “หมิ่นฯ”
พร้อมกันนี้ ขอคัดคำนำมาเผยแพร่ในที่นี่ . .
การลุกขึ้นสู้ของประชาชนเพื่อขับไล่เผด็จการสุจินดา คราประยูร มาถึงจุดเดือดในเดือนพฤษภาคม 2535 มีรายงานผู้เสียชีวิต 48 คน จากการปราบปรามของทหารในเหตุการณ์ครั้งนี้
เป็นไปตามธรรมเนียมการเมืองไทย พระบาทสมเด็จระเจ้าอยู่หัวทรงเชิญให้แกนนำทั้งสองฝ่ายเข้าเฝ้าและอภัยโทษให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งพระราชทานนายรัฐมนตรี ที่แม้ไม่ได้มาจากกระบวนการเลือกตั้ง แต่ก็ได้ผ่านร่างกฎหมาย 267 ฉบับภายในปีเดียว
นี่คือรูปธรรมการเมืองไทย “ประชาธิปไตยแบบไทยภายใต้พระมหากษัตริย์” อันเป็นนิยามแห่งความสับสน และการเมืองแห่งการขอโทษที่เราทำได้แค่นี้ ที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่รอยครั้งแล้วครั้งเล่า ตามธรรมเนียมวิถีที่ตั้งอยู่บนการสร้างความหวังลมๆ แล้งๆ คนไทยจำนวนไม่น้อยที่มองโลกในแง่ดี ต่างก็หวังว่าเหตุการณ์พฤษภาเลือดปี 2535 จะเป็นการนองเลือดครั้งสุดท้ายที่กองทัพไทยกระทำกับประชาชนคนไทย และจะเป็นการสิ้นสุดได้เสียทีแห่งการเมืองคอรัปชั่น ผู้นำที่ละโมภโลภมากและโง่เขลาเบาปัญญาทางการเมือง ที่มีมาต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ปี 2490 เมื่อทหารไทยได้เริ่มต้นกระวนการบดขยี้ขบวนการประชาธิปไตยของไทยที่เพิ่งผลิใบ
การเลือกตั้งที่ตามมาหลังจากเหตุการณ์พฤษภาเลือด ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเริ่มมีความหวังกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนจนได้รัฐธรรมนูญ (ฉบับประชาชน) ปี 2540 ได้ระบุถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนบางด้านที่เคยถูกปฏิเสธ - อาทิเสรีภาพในการรวมตัวแสดงออกซึ่งความคิดเห็น แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ไม่ใช่ไม้กายสิทธิ์ การจะขจัดปัดเป่าปัญหาคอรัปชั่นที่ฝังรากลึกในกลไกของรัฐ ทหาร ตำรวจ และรวมทั้งในวัฒนธรรมการเมืองของไทยมาอย่างยาวนาน ต้องการมากกว่าเพียงแค่มีการระบุไว้ในมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ
สัญญาณแห่งการพัฒนาที่มีทีท่าว่าจะเป็นไปด้วยดีเหล่านี้ ถูกบดขยี้จนแหลกละเอียดโดยรัฐประหารปี 2549 ที่โค่นทักษิณได้สำเร็จ รวมทั้งยังได้ผลักประเทศไทยให้มุ่งหน้าสู่สงครามกลางเมือง
รัฐประหาร 2549 ทำให้คนไทยที่เคยแต่เพียงเฝ้ามองเหตุการณ์เมืองไทยอยู่รอบนอก จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่สามารถทนดูนิ่งเฉยได้อีกต่อไป และเข้ามาร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หลายคนได้ลุกขึ้นมาทลายความกลัวแห่งกฎหมายเหล็ก “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” และเริ่มวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า เพราะเหตุใด ในรอบ 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ความหวังและแรงบันดาลใจเพื่อสร้างสังคมที่ดีงามของพวกเขา จึงถูกบดขยี้และทำให้ขยับเยื้อนไม่ได้จากอำนาจของคณะองคมนตรี ทหารรักษาพระองค์ และพวกหัวหน้าผู้พิพากษาต่างๆ
ประเทศไทยมีประชากร 66 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ร่วมครึ่ง หรือมากกว่าครึ่งของประชากรทั้งประเทศยังคงดำรงวิถีชีวิตด้วยการพึงพิงอาหารที่ครอบครัวผลิตจากไร่นาของตัวเอง โดยมีครอบครัวเกษตรกร 5.7 ล้านครอบครัว ซึ่งนับเป็นตัวแทนของประชากรไม่ต่ำกว่า 40% ของทั้งประเทศ และในจำนวนนี้มีเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 40% ที่มีที่ดินทำกินไม่ถึงสิบไร่ หรือต้องทำนาด้วยระบบแบ่งผลผลิตกับเจ้าของที่ดิน หรือเป็นเกษตรกรที่ต้องเช่าที่ดินทำกิน และจำนวนมากต้องสร้างรายได้เสริมจากการเดินทางไปเป็นแรงงานรับจ้างนอกพื้นที่จากจำนวนเงินกู้ทั้งหมดในประเทศไทย 45% เป็นเงินที่มาจากการกู้นอกระบบที่กระทำในตลาดมืด และคิดดอกเบี้ยกันในอัตรามหาโหด ส่วนมากจะคิดดอกเบี้ยกันเป็นรายเดือน
หนี้สินของครอบครัวเกษตรกรโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 300,000 บาทต่อครัวเรือน สูงกว่าหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนของประชาชนทั้งประเทศเกือบเท่าตัว สวัสดิการสังคมที่มีอันจำกัดและครอบคลุมกำลังแรงงานเพียง 27% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด 38 ล้านคน คนงานที่ถูกจัดในกลุ่ม “แรงงานจ้างงานตัวเอง” ที่มีประมาณ 24 ล้านคน ไม่ได้รับสวัสดิการทางสังคมใดๆ และก็เผชิญความยุ่งยากต่างๆ นาๆ ในการเข้าถึงการใช้บริการการรัษาฟรีของรัฐบาล สรุปสั้นๆ ก็คือ 70% ของประชากรในประเทศไทย ต่างก็มีชีวิตอยู่บนชะตากรรมที่ไม่มีสวัสดิการทางสังคมใดๆ เลย
ประเทศไทยถูกจัดอยู่ที่ลำดับ 73 ของดัชนีชี้วัดการพัฒนาของสหประชาชาติเมื่อปี 2548
แต่ในการจัดลำดับประจำปี 2554 เราตกร่วงลงมาอยู่ที่ลำดับที่ 92
หนังสือฉบับนี้ เป็นบทความต่อเนื่องจากสองบทความขนาดยาวที่เขียนขึ้นมาก่อนหน้านี้ ได้แก่ “ไพร่สู้ บนเส้นทาง 78 ปีประชาธิปไตย” (2552-2553) และ “ทำไมถึงไม่รักxxx (2553) แต่บทความเรื่องนี้เจาะลึกลงไปมากขึ้นถึงอำนาจของลัทธิศักดินาที่ยังคงคุมขังและทรมานพัฒนาการทางสังคมและการเมืองของคนในประเทศไทยอยู่จนถึงปัจจุบัน
*******************************************************************
อีกเล่มหนึ่ง
อนึ่งหนังสือเล่มนี้จะเป็นเอกสารหลักที่่ใช้ประกอบการบรรยายที่เวทีเสวนา "เบืองหลังวิกฤติประเทศไทย" ที่เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ในวันที่ 10 เมษายน 2554 เพื่อร่วมรำลึกถึงมรณกรรม 10 เมษายน 2553 ครบรอบ 1 ปี
******************************************************************
คัดจากเว็บไซต์ไทอีนิวส์
ด้วยความขอบคุณค่ะ