วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เรื่องเล่า 6 ตุลา 2519 (3) : ย้อนอดีต เหตุการณ์ 6 ตุลา 19

ย้อนอดีต เหตุการณ์ 6 ตุลา 19

ความหอมหวานแห่งชัยชนะ




ก่อนจะกล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 คงเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องกล่าวโยงไปถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นักศึกษาประชาชนไทยได้แสดง “พลังประชาชนและประชาธิปไตย” อันเป็นพลังที่ส่งผลให้ทิศทางการเมืองและสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว ผู้นำเผด็จการ 3 คนซึ่งมีอำนาจล้นฟ้าในประเทศขณะนั้นคือ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด จอมพลประภาส จารุเสถียร รองนายกฯ รัฐมนตรีมหาดไทย ผู้บัญชาการทหารบก และพ.อ.ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายจอมพลถนอมและบุตรเขยจอมพลประภาส ต้องเดินทางออกจากประเทศไทย

ชัยชนะของขบวนการนักศึกษาและประชาชนที่สามารถโค่นรัฐบาลเผด็จการให้พ้นจากอำนาจได้ ทำให้บรรยากาศการเมืองไทยเปลี่ยนจาก “ยุคมืดของเผด็จการ” เป็น “ยุคทอง” ของการต่อสู้เพื่อเอกราช ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม ความตื่นตัวในสิทธิประชาธิปไตยขยายตัวอย่างรวดเร็วจากห้องเรียนในสถานศึกษา สู่โรงงานและท้องไร่ท้องนารวมทั้งตามถนนหนทางทั่วไป

ช่วงนั้นขบวนการนักศึกษาได้รับความชื่นชมยกย่องจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งคาดหวังว่าเมื่อสามารถกำจัดผู้นำเผด็จการให้พ้นจากอำนาจได้แล้ว สังคมไทยควรเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดถอนรากถอนโคน โดยมองข้ามความจริงที่ว่า แม้ผู้นำเผด็จการจะถูกกำจัดไปแล้ว แต่แกนโครงสร้างทางอำนาจของเผด็จการยังคงอยู่ เพียงถอยฉากไปฟักตัวรอเวลาเหมาะสมที่จะเติบโตขึ้นมาอีก เรื่องนี้มีผู้เปรียบอำนาจการปกครองระบอบเผด็จการของเมืองไทยขณะนั้นว่า เหมือนตึกที่มีรากฐานมั่นคง เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เป็นเพียงพายุใหญ่ที่พัดกระเบื้อง 3 แผ่นหลุดปลิวไปเท่านั้น เมื่อขับไล่ผู้ปกครองกลุ่มเก่าไป ก็จะมีผู้ปกครองกลุ่มใหม่เข้ามาช่วงชิงดอกผลจากการต่อสู้ของนิสิตนักศึกษาประชาชน โดยพยายามทุกวิถีทางที่จะฟื้นอำนาจเผด็จการอย่างเก่าขึ้นมาอีก ความจริงเรื่องนี้เองที่ทำให้สังคมไทยในเวลาต่อมาแบ่งแยกออกเป็นสองขั้ว (มีชื่อเรียกต่างกันไป เช่น ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายก้าวหน้า ฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย ฯลฯ) อันทำให้เกิดข้อขัดแย้งมากมายในสังคมไทย และเป็นประเด็นให้เกิดความรุนแรงอย่างที่สุดในอีก 3 ปีต่อมา

หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 คลี่คลายลง ขบวนการนักศึกษามีบทบาทเป็นแกนกลางเชื่อมประสานการต่อสู้ของกรรมกรและชาวนาไทยเข้าด้วยกัน รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม

เพื่อฉายภาพสังคมช่วงนั้นให้เห็นชัดเจนขึ้น จึงขอนำข้อมูลจากบทความเรื่อง “ใครก่อเหตุการณ์ 6 ตุลา” โดย ศรพรหม วาศสุรางค์ ในหนังสือ “อย่าเป็นเพียงตำนาน” ของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเสนอดังนี้

ช่วง 2 เดือนหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 นั้น กรรมกรนัดหยุดงานเพิ่มมากขึ้นกว่า 300 ครั้ง และในปีถัดมากระแสการนัดหยุดงานก็พุ่งสูงขึ้นมากกว่า 700 ครั้ง ถึงขนาดสามารถกล่าวได้ว่า ขบวนการกรรมกรกว่าร้อยละ 80 เคยนัดหยุดงานในช่วงเวลาดังกล่าวมาแล้วทั้งนั้น ปัญหาการนัดหยุดงานของกรรมกรเกิดจากสภาพความบีบคั้นแร้นแค้นที่สะสมมานานจนเกิดแรงระเบิดขึ้นในระยะดังกล่าว ผู้ใช้แรงงานเรียกร้องขอเพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการ รวมทั้งหลักประกันในการทำงาน จนกระทั่งปี 2517 กรรมกรก็ชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่ท้องสนามหลวง สามารถเรียกร้องให้รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ออกประกาศกำหนดค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศได้สำเร็จ และนำไปสู่การออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานในปีถัดมา กระแสการเคลื่อนไหวของกรรมกรที่ถี่ขึ้น ได้นำไปสู่การก่อตั้งสหภาพแรงงานในวิสาหกิจต่างๆ แล้วเติบโตขยายตัวก่อตั้งองค์กรกลางสหภาพแรงงาน และองค์การสภาลูกจ้างแรงงานในที่สุด

ส่วนการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ในชนบทนั้น หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ชาวนาชาวไร่ผู้ประสบความเดือดร้อนมาช้านานได้รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาชาวนา ตั้งแต่ปี 2517 จนถึงเดือนพฤษภาคม ชาวนาจำนวนมากได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องหนี้สินและปัญหาการครอบครองที่ดิน ปลายเดือนมิถุนายน 2517 ชาวนาได้จัดชุมนุมใหญ่เป็นครั้งแรกที่ท้องสนามหลวง และชุมนุมกันอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ในที่สุดก็มีการก่อตั้งองค์กรของชาวนาขึ้นอย่างเป็นทางการในชื่อ “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่”
| next |

------------------------------------------------------------------------- 
 ด้วยความขอบคุณ..บันทึกไว้เพื่อการศึกษาhttp://www.2519.net/autopage/show_page.php?t=13&s_id=1&d_id=1