วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เรื่องเล่า 6 ตุลา 2519 (1) "ต้นกล้า .. 20 ปีในความทรงจำ"



"ต้นกล้า...20 ปีในความทรงจำ"

คำให้การนายการะเวก

นายการะเวก

ข้าฯเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปีการศึกษา 2515 เสร็จการปฐมนิเทศ ก็ขึ้นไปป้วนเปี้ยนที่ชุมนุมดนตรีไทย ซึ่งอยู่ชั้น 3 ของโรงยิมเนเซียม ด้านติดคณะนิติศาสตร์

ข้าฯ เล่นดนตรีไทยมาก่อนสมัยเรียนมัธยม เล่นบทต้วมเตี้ยม เตาะแตะ และติดตาม ใช่ เล่นแบบมั่ว ๆ นั่นแหละ ตรงที่สุด

ชุมนุมดนตรีไทยธรรมศาสตร์ มีคนมาเล่นดนตรีเป็นประจำหลายรุ่น ที่เรียนจบไปแล้วก็มีมาก เพื่อน ๆ ของสมาชิกที่อยู่ต่างสถาบันก็มีพอสมควร ยังมีรุ่นครูบาอาจารย์อีกไม่น้อย

เป็นชุมนุมชนเล็ก ๆ เป็นโลกใบน้อย ๆ ของชาวดนตรีไทย

อันนี้ต้องท้าวความเล็กน้อย

โลกใบน้อย ๆ นี้แหละเป็นที่พบปะ เฮฮา ของสองผู้ยิ่งใหญ่ทางด้านวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย คือ ท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งเรียนอยู่ธรรมศาสตร์นี้ กับท่านสุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งศึกษาอยู่ ณ ศิลปากร วังท่าพระ   
การไหลบ่าของวัฒนธรรมอเมริกัน ท่วมท้นและทับถมเมืองไทย มีอาการน่าเป็นห่วง

ท่านทั้งสองนี่แหละเป็นหัวเรือใหญ่ชักชวนเพื่อนฝูงพี่น้องที่คุ้นเคยและพูดจากันรู้เรื่องตั้งวง “เจ้าพระยา” ขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2513 จำได้ไม่แน่ชัด

รูปแบบที่นำมาใช้เป็นวงมโหรีแบบกรุงศรีอยุธยา ตามที่เห็นการแสดงของวงเจ้าพระยา ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง มีดังนี้

ท่านไพศาล อินทวงศ์ สีซอสามสาย 
ท่านสุจิตต์ วงษ์เทศ ดีดกระจับปี่ 
ท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป่าขลุ่ย 
ท่านชาญ ชูเชื้อ ตีโทนรำมะนา 
ท่านนิคม ขจรศรีเดช ตีฉิ่ง 
นักร้องจำชื่อไม่ได้

เพลงที่วงเจ้าพระยาเล่น เป็นเพลงไทย 2 ชั้น มีท่วงทำนองจำง่าย เช่น เพลง “เจ้าพระยาฮาเฮ” ใช้ทำนองเพลง “คางคกชอบสระ”ซึ่งเป็นเพลงเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยา เพลง “คนทำทาง” ใช้ทำนอง “ขอมทรงเครื่อง 2 ชั้น” ซึ่งเป็นเพลงไทยเก่าแก่สำเนียงเขมร เพราะพริ้ง เพลงทั้งหมดนั้นพยายามไม่ใส่เอื้อนตามแบบเก่า และใส่เนื้อเต็มตามทำนองบรรเลง

ผู้ชมที่สำคัญก็มี..
ท่านขรรค์ชัย บุนปาน 
ท่านเสถียร จันทิมาธร 
ท่านเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ 
ท่านพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร 
และท่านชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นต้น

ต้องการอ่านเพิ่มเติม(เอกสารword)
-----------------------------------------------------------------
ด้วยคารวะ..เรื่องราวดีๆ
จาก http://www.2519.net/autopage/show_page.php?t=11&s_id=2&d_id=5