วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ชำนาญ จันทร์เรือง: สื่อเลือกข้างได้หรือไม่

ชำนาญ จันทร์เรือง: สื่อเลือกข้างได้หรือไม่

ประเด็นถกเถียงกันไม่รู้จักจบสิ้นสำหรับสังคมไทยนับตั้งแต่ที่มีการแบ่งขั้วแบ่งสีกันอย่างชัดเจนเช่นนี้ก็คือประเด็นที่ว่า "สื่อเลือกข้างได้หรือไม่" "สื่อต้องเป็นกลาง"ไม่สามารถเชียร์หรือต่อต้านใคร หรือ "สื่อควรจะต้องได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษกว่าคนธรรมดาหรือไม่"

ล่าสุดที่เป็นประเด็นขึ้นมาก็คือกรณีที่มีการลอบปองร้ายนักหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์โดยมีแถลงการณ์ร่วมจากสมาคมนักข่าวฯให้รัฐคุ้มครองเป็นกรณีพิเศษโดยอ้างว่าได้รับการคุกคามจากผลของการทำหน้าที่ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่ยังไม่มีใครทราบ เพราะบางกระแสก็บอกว่าอาจจะมาจากเรื่องส่วนตัวก็ได้ ที่สำคัญหนักกว่านั้นก็คือบอกว่าผู้สื่อข่าวคนนั้นหมดสภาพความเป็นสื่อไปแล้วนับตั้งแต่ไปเป็น สนช.ของคณะรัฐประหาร 19 กันยา

ผมไม่ได้ร่ำเรียนมาทางนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์โดยตรง แต่จากประสบการณ์ที่ผมได้รับและได้พบเห็นมาผมเห็นว่า

1)ประเด็นสื่อเลือกข้างได้หรือไม่

คำตอบของผมก็คือได้ เพราะสื่อก็คือปุถุชนคนธรรมดาไม่ได้วิเศษวิโสมาจากจากไหน ย่อมมีรักโลภโกรธหลง มีรสนิยมหรืออุดมการณ์ทางการเมืองของตนเอง จึงไม่แปลกอะไรที่สื่อจะเลือกข้าง แต่สิ่งที่ผมจะเน้นก็คือว่าแม้ว่าสื่อจะเลือกข้างได้ แต่ข่าวต้องเป็นข่าว ข้อเท็จจริงต้องเป็นข้อเท็จจริง โดยไม่ใส่ความเห็นของตนเองหรือสำนักข่าวของตนลงไปไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ ในต่างประเทศ เช่น ในอเมริกาเวลาจะมีการเลือกตั้งสื่อสำคัญๆ เช่น วอชิงตันโพสต์ นิวยอร์กไทม์ หรือฟ็อกซ์นิวส์ที่เชียร์รีพับลิกันอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ฯลฯ ต่างประกาศตัวชัดเจนว่าตนเองสนับสนุนใครหรือเชียร์ใคร แต่ตัวเนื้อข่าวกับความเห็นในคอลัมน์ต่างๆนั้นแยกกันชัดเจนว่าอันไหนเป็นข้อเท็จจริง อันไหนเป็นความเห็น ซึ่งต่างจากของพี่ไทยเราไม่รู้ว่าว่าอันไหนเป็นเนื้อข่าวอันไหนเป็นความเห็น มั่วกันไปหมด ที่สุดๆก็คือพาดหัวข่าวใส่อารมณ์เอียงข้างกันอย่างเต็มที่ ซึ่งนี่ยังไม่นับการ "เต้าข่าว"ซึ่งเป็นสิ่งที่เลวร้ายมากแต่ก็มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ

2)สื่อต้องเป็นกลางหรือไม่

คำตอบของประเด็นนี้ก็คล้ายๆกับประเด็นแรกว่าข่าวต้องเป็นข่าว ข้อเท็จจริงก็ต้องเป็นข้อเท็จจริง ความเห็นก็เป็นส่วนความเห็น ซึ่งหากถามผม ผมก็ก็จะตอบได้ว่าไม่มีใครในโลกนี้หรอกที่เป็นกลางร้อยเปอร์เซ็นต์ ต่อให้อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ แต่ขอให้เอียงน้อยหน่อยและอยู่ในกรอบของจรรยาบรรณของวิชาชีพ

3)สื่อต้องได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษกว่าวิชาชีพอื่นหรือไม่

คำตอบก็คือไม่ว่าอาชีพไหนๆต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ แต่จะมากน้อยหรือแตกต่างกันแค่ไหนก็ต้องแล้วเหตุปัจจัยว่าเป็นภัยอันตรายไกล้ถึงตัวหรือไม่ ถูกขู่อาฆาตและคุกคามว่าจะทำร้ายให้ถึงแก่ชีวิตของตนเองหรือญาติมิตรหรือไม่ ฯลฯ หากไม่อยู่ในข่ายต่างๆเหล่านี้สื่อก็ต้องได้รับการคุ้มครองเท่าเทียมกับประชาชนทั่วไปที่พึงจะได้รับจากรัฐ ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน เว้นเสียแต่ว่ารัฐนั้นสูญเสียความเป็นนิติรัฐไปเป็นรัฐเผด็จการหรือรัฐที่ล้มเหลว(failed state)ไปแล้ว

ในสังคมไทยเรานี้มีวงจรอุบาทว์เกี่ยวกับวงการสื่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เล่าขานกันอย่างหัวเราะไม่ออก จะร่ำไห้ก็ไม่ได้ แต่ก็เป็นความจริงก็คือวงจรที่ว่า "ผู้ร้ายกล้วตำรวจ ตำรวจกลัวผู้สื่อข่าว ผู้สื่อข่าวกลัวผู้ร้าย" ในทำนองไก่เห็นนมงู งูเห็นนมไก่นั่นเอง เพราะต่างฝ่ายต่างหรือมีจุดอ่อนที่สามารถถูกโจมตีได้ แต่ใครจะกลัวใครด้วยเหตุใดนั้นคงไม่ต้องอธิบายลึกลงไปในรายละเอียดก็คงมองเห็นภาพกันได้

กล่าวโดยสรุปก็คือว่าสื่อเลือกข้างได้ สื่อไม่จำเป็นต้องเป็นกลางแต่ขอให้อยู่ในกรอบของจรรยาบรรณของวิชาชีพ และสื่อก็อยู่ในสถานะเดียวกับประชาชนทั่วๆไปที่จะได้รับการคุ้มครองจากรัฐในฐานะผู้เสียภาษีอากรเหมือนกัน



หมายเหตุผู้เขียน
1)เขียนถึงเรื่อง "สื่อ"แล้วผมก็ขอเชิญชวน "สื่อ"และผู้ที่สนใจทุกท่านเข้าร่วมงานแถลงข่าวการประกวด "รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2556(Media Awards 2013)" และเวทีเสวนา "สื่อ: เสรีภาพ ความรับผิดชอบ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม(Freedom,Responsibility and Social Change)"ในวันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2556 เวลา 13.30​ - 16.30 น. ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย(FCCT) อาคารมณียาเซ็นเตอร์ ชั้นเพนท์เฮ้าส์(เชื่อมกับบีทีเอส สถานีชิดลม) จัดโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ครับ

2)เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 21สิงหาคม 2556
*****************************************************