วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555

นครศรีธรรมราชโมเดล

 ภาพปฏิบัติการ"นครศรีธรรมราชโมเดล" บุกค้นยาเสพติดเรือนจำเมืองคอน เด้งด่วน!ผบ.คุก

มติชนออนไลน์ 23 เม.ย.55

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1335165904&grpid=01&catid=&subcatid=

ภาพผลปฏิบัติการ"นครศรีธรรมราชโมเดล" การจับมือประสานร่วมกันระหว่างนายโสภณ ธิติธรรมพฤกษ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พล.ต.ต.รณพงษ์ ทรายแก้ว ผบก.ภ.นครศรีธรรมราช นายชลัยสิน โพธิเจริญ ผอ.ปปส.ภาค 8 ระดมกำลังตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช อาสาสมัคร ฝ่ายปกครอง ตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) กก.42 ค่ายศรีนครินทรา ชุดคอมมานโดกรมราชทัณฑ์กว่า 600 นายและสารวัตรทหารจาก มทบ.41 บุกจู่โจมตรวจค้นเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ ม.1 ต.นาพรุ อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช เมื่อเวลา 03.00 น. วันนี้ 22 เมษายน 2555 โดยที่เจ้าหน้าที่เรือนจำนครศรีธรรมราชไม่รู้ตัวมาก่อนแม้แต่คนเดียว แม้แต่นายณรงค์ ยงณรงค์เดชกุล ผบ.เรือนจำกลางนครศรีธรรมราชก็ไม่รู้ตัวมาก่อน สามารถยึดของกลางโทรศัพท์มือถือยี่ห้อต่างๆ 284เครื่อง ในจำนวนนี้มีแทปเล็ตยี่ห้อต่างๆ และไอโฟนนับสิบเครื่อง อุปกรณ์ชาร์ตแบตเตอรี่แบบดัดแปลงเองจำนวนมาก ยาเสพติดประเภท 1 (ยาบ้า)ประมาณ 1,700 เม็ด ยาไอซ์น้ำหนักประมาณ1 กก. อุปกรณ์เสพยาไอซ์และเสพยาบ้า จำนวนหลายสิบอัน อาวุธมีด ของมีคมดัดแปลง เหล็กขูดชาร์ป จำนวนนับร้อยเล่มและอุปกรณ์เล่นการพนันดัดแปลงทำเอง รวมมูลค่าทั้งหมดประมาณ 100ล้านบาท นอกจากนี้รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ยังเสนอย้ายด่วน ผบ.เรือนจำนครศรีธรรมราช







เด้ง'ผบ.'เซ่นค้นคุกเมืองคอน ยาบ้า-ไอซ์-ไอแพดค่า100ล.
บุกจู่โจมค้นเรือนจำเมืองคอนยึดมือถือ 284 เครื่อง มีด เหล็กขูดชาฟต์กว่า 100 เล่ม ยาบ้า-ไอซ์ เพียบ 'รองอธิบดีราชทัณฑ์'สั่งเด้ง ผบ.เรือนจำ เผยใช้'นครศรีฯโมเดล'ปราบยาเสพติดในคุกทั่วประเทศ

ของกลางอื้อ - นายโสภณ ธิติธรรมพฤกษ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ (ขวาสุด) นำกำลังบุกค้นเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ตรวจยึดของกลาง ยาเสพติด อุปกรณ์เสพ อาวุธ อุปกรณ์สื่อสาร หลายรายการ มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท เมื่อวันที่ 22 เมษายน

เมื่อเวลา 03.00 น. วันที่ 22 เมษายน นายโสภณ ธิติธรรมพฤกษ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พล.ต.ต.รณพงษ์ ทรายแก้ว ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.) นครศรีธรรมราช พร้อมกำลังตำรวจ ฝ่ายปกครอง ตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายศรี นครินทรา สารวัตรจากมณฑลทหารบกที่ 41 และชุดคอมมานโดกรมราชทัณฑ์กว่า 600 นาย บุกจู่โจมค้นเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่หมู่ 1 ต.นาพรุ อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช โดยเจ้าหน้าที่เรือนจำและนายณรงค์ ยงณรงค์เดชกุล ผู้บัญชาการเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ไม่ทราบเรื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานการปฏิบัติการเริ่มโดยนายโสภณนำกำลังคอมมานโดกรมราชทัณฑ์ 70 นาย บุกเข้ายึดป้อมยามรักษาการณ์หน้าเรือนจำ ประตูเรือนจำ ปลดเครื่องมือสื่อสารของเจ้าหน้าที่ จากนั้นให้เจ้าหน้าที่คอมมานโดพร้อมตำรวจและทหารอีกกว่า 500 นาย จู่โจมเข้าไปค้นเรือนจำในแดนที่ 4,5 และ 6 ซึ่งเป็นแดนที่คุมขังนักโทษคดีค้ายาเสพติดและนักโทษเด็ดขาดประหารชีวิต ท่ามกลางความตระหนกของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ภายในเรือนจำที่ไม่รู้ตัวมาก่อน ขณะที่เหล่านักโทษต่างแตกตื่นนำยาเสพติดทั้งยาบ้าและยาไอซ์รวมทั้งโทรศัพท์มือถือยี่ห้อต่างๆ โยนทิ้งเกลื่อนห้องขัง เจ้าหน้าที่กระจายกำลังเข้าตรวจค้นในห้องขังทั้ง 3 แดน ถึงเวลา 08.00 น. สามารถตรวจยึดสิ่งของต้องห้ามหลายรายการ อาวุธ โทรศัพท์มือถือ ยาเสพติดได้จำนวนมาก โดยไม่มีใครแสดงตัวเป็นเจ้าของ ของกลางทั้งหมดเจ้าหน้าที่ต้องใช้รถเข็นขนถึง 5 คัน ซึ่งนายณรงค์ที่ตามเข้าร่วมตรวจค้นภายหลังมีสีหน้าเคร่งเครียด

ต่อมาเวลา 09.30 น. พล.ต.ท.สันติ เพ็ญสูตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 (ผบช.ภ.8) เดินทางมาแถลงข่าวร่วมกับนายวิโรจน์ พล.ต.ต.รณพงษ์ นายโสภณ และนายชลัยสิน โพธิเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ผอ.ป.ป.ส.) ภาค 8

พล.ต.ท.สันติแถลงว่า เจ้าหน้าที่ตรวจค้นพบโทรศัพท์มือถือยี่ห้อต่างๆ ได้ 284 เครื่อง มีทั้งแท็บเล็ตยี่ห้อต่างๆ รวมทั้งไอโฟน อุปกรณ์ชาร์จแบตเตอรี่แบบดัดแปลงเอง ยาบ้า 1,700 เม็ด ยาไอซ์ประมาณ 1 กิโลกรัม อุปกรณ์เสพยาไอซ์และยาบ้าหลายชุด รวมทั้งมีด ของมีคมดัดแปลง และเหล็กขูดชาฟต์กว่าร้อยเล่ม และอุปกรณ์เล่นการพนันดัดแปลงจำนวนมาก

นายโสภณกล่าวว่า การปฏิบัติการครั้งนี้ได้ประสานข้อมูลกับ พล.ต.ต.รณพงษ์มาระยะหนึ่งแล้ว โดยนำเสนอไปยัง พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้รูปแบบการปฏิบัติหน้าที่ที่เรียกว่านครศรีธรรมราชโมเดล เป็นต้นแบบในการปราบปรามของต้องห้ามในเรือนจำทั่วประเทศ ขณะนี้ได้ย้ายนายณรงค์พ้นตำแหน่งผู้บัญชาการเรือนจำนคร ศรีธรรมราช แล้วตั้งนายสุรพล แก้วภราดัย มาดำรงตำแหน่งแทน

ด้าน พล.ต.ต.รณพงษ์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้หาข้อมูลมาหลายเดือนติดต่อกัน ก่อนที่จะเข้าค้น แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าข่าวรั่วเนื่องจากพบโทรศัพท์มือถือของนักโทษเครื่องหนึ่งมีข้อความแจ้งว่า "อีก 2 ชั่วโมงคอมมานโดจะเข้าตรวจค้นเรือนจำ" ทำให้สิ่งของที่ละลาย ได้เช่นยาเสพติดซึ่งทราบว่ามีเป็นกิโลกรัม ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก เข้าใจว่าเทลง โถส้วม อย่างไรก็ตาม ยาเสพติดที่ยึดได้มากเป็นที่น่าพอใจ
"โทรศัพท์ที่นำเข้าไปได้ เจ้าหน้าที่เรือนจำนำเข้าไปให้มีค่านำพาเข้าไปเครื่องละ 30,000 บาท ล็อตละ 10 เครื่องราคา 3 แสนบาท มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพัวพัน อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 10 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังทำข้อมูลมัดตัวและขอออกหมายจับ ส่วนผู้ต้องขังที่เป็นเอเยนต์ใหญ่ ระดับค้ายาคราวละหลายล้านนั้นมีอยู่ 2 คน ส่วนอื่นๆ นั้นเป็น รายกลางและรายย่อย เชื่อว่าหากจัดการเรือนจำได้ทั่วประเทศ การค้ายาเสพติดในประเทศไทยจะลดลงกว่าครึ่ง" พล.ต.ต.รณพงษ์กล่าว นายวิโรจน์กล่าวว่า จะต้องสับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ภายในเรือนจำด้วย ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเช่นนี้กลับมาอีกอย่างแน่นอน รวมทั้งตั้งกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทั้งหมด หากพบว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องในการลักลอบนำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในเรือนจำให้กับนักโทษ จะดำเนินการทั้งด้านคดีอาญาและวินัยอย่างเฉียบขาดทันที
พล.ต.ท.สันติกล่าวอีกว่าว่า ผู้ค้ายาเสพติดในเขต บช.ภ.8 และ บช.ภ.9 นั้น เมื่อถูกจับกุมได้ส่วนใหญ่จะสารภาพว่าสั่งซื้อจากเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่นำของกลางมาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนนั้น มีโทรศัพท์เข้ามาตลอดเวลา และทุกเครื่องจะมีรหัสในการเข้าใช้ เมื่อเปิดเครื่องจะมีสายเรียกเข้ามาอยู่ตลอดเวลา เมื่อเจ้าหน้าที่รับสายทำทีบอกว่าของยังไม่พร้อมปลายสายจะวางสาย บางเครื่องเมื่อรับแล้วบอกว่าเจ้าของไปห้องน้ำปลายสายจะบอกว่าจะขอคุยกับเจ้าของแล้วไม่ยอมคุยต่อ

แหล่งข่าวกล่าวว่า การที่ส่งโทรศัพท์เข้า ไปขายในเรือนจำนครศรีธรรมราชแบบธรรมดาราคาตกเครื่องละประมาณ 200,000-250,000 บาท ส่วนโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนมีราคาตกเครื่องละ 300,000-350,000 บาท หากคิดเป็นเม็ดเงินที่สะพัดตามจำนวนเครื่องโทรศัพท์ที่ตรวจยึดได้นั้นจะมีมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท เป็นยอดที่ทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่รู้เห็น ในการนำเครื่องโทรศัพท์ไปจนถึงมือนักโทษอยู่ที่ประมาณ 100-200 ล้านบาท ส่วนค่าเช่าใช้โทรศัพท์จากนักโทษด้วยกันครั้งละ 10,000-18,000 บาท

"นักค้ายาบางรายยอมให้ตำรวจจับแล้วเข้าไปอยู่ในเรือนจำเพื่อบัญชาการค้ายา โดยเฉพาะพ่อค้ายารายใหญ่ชื่อย่อ ช. เป็นผู้กว้างขวางในเรือนจำที่เจ้าหน้าที่และนักโทษคนอื่นๆ ยอมตกอยู่ใต้อิทธิพล" แหล่งข่าวกล่าว
"ในความสำเร็จอย่างงดงามในครั้งนี้ต้องขอยกย่องชมเชยท่านพล.ต.ต.รณพงษ์ ทรายแก้ว ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด(ผบก.ภ.จว.) นครศรีธรรมราช ท่านนี้เลยล่ะครับ เพราะคดีนี้ท่านได้ติดตาม วางแผนก่อนที่จะดำเนินการมากว่า 6 เดือน  ทั้งส่งสายเข้าไปอยู่ร่วมกับนักโทษในเรือนจำนี้ จนได้ข้อมูลอย่างแน่ชัดแล้วจึงวางแผนเข้าทลายแก๊งค์ค้ายาที่ซ่องสุม  รวมตัวกันอยู่ในคุกนี้ได้สำเร็จครับ ก่อนหน้านี้ท่านเองก็เคยประจำอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์และได้เข้าดำเนินการปราบปราม  และจับกุมที่เรือนจำจังหวัดสุรินทร์สำเร็จมาแล้ว ซึ่งนั่นคือข้อมูลที่ต่อยอดมาได้ว่าแหล่งสั่งยาขนาดใหญ่ทางภาคใต้ก็คือในเรือนจำจังหวัดนครศรีธรรมราชนี่เองแหละครับ"....

ขอบคุณแหล่งข้อมูลจากเว็บประชาทอล์คด้วยค่ะ
มติชนออนไลน์ 23 เม.ย.55