วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ร้อยบุปผา

ร้อยบุปผา

เพื่อเพื่อนเพื่อชีวิต..

ร้อยบุปผา|บานพร้อมพรัก
ร้อยสำนัก ประชันแข่งใจ
มวลดอกไม้
พร่างพรายมาพ้องพาน
ร้อยดอกงาม เด่นตระการ
แย้มบานในดวงใจ
ชู่ ช่อ ธรรม
สง่างาม ในนามศิลปิน
..
มาสร้างงานศิลป์
ชุบชีวินมนุษย์ชาติ
สะอาดสดสวย
ด้วยบทเพลงแห่งสวรรค์
ให้มาลัยฝากรัก
มอบใจภักดิ์ร่วมกัน
จุดไฟความฝัน
พร่างพลันประกายเพลิง

..
มาเถิดพี่น้อง ร่วมร้องเพลงเพื่อ
กลั่นจากเลือดเนื้อ
หยาดเหงื่อเร่าร้อน
เพลงศรัทธาก้องฟ้า
ร้องส่งมาอวยพร
เริงระบำรำฟ้อน
ร้อยกรองกวีกานต์

...
มาร่วมใจรัก พร้อมพรักพลีชีวาตม์
ผงาดอาจหาญ
สร้างตำนานตระการฟ้า
แต่งเติมโลกศิลป์
ให้ผ่องพิณโสภา
ด้วยวิญญาณท้า
ทระนงเทิดคงธรรม

...
ร้อยบุปผา บานพร้อมพรัก
ร้อยสำนักประชันแข่งใจ
มวลดอกไม้
พร่างพรายมาพ้องพาน
ร้อยดอกงาม เด่นตระการ
แย้มบานในดวงใจ
ชู่ ช่อ ธรรม
สง่างามในนามศิลปิน...

..



วันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560

พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9








ภาพจากอินเทอร์เน็ต

ทดสอบระบบไฟส่องพระเมรุมาศ ซ้อมยกพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร 12 กับ 17 ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2560 ที่บริเวณสนามหลวงด้านทิศใต้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ บูรณะปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) และนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ตรวจความคืบหน้าการจัดสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_544500

หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลครบรอบ 1 ปี วันสวรรคต ในหลวง ร.9


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลครบรอบ 1 ปี วันสวรรคต ในหลวง ร.9
วันที่ 3 ต.ค. 60 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่หมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลครบรอบ 1 ปี วันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ตุลาคม พุทธศักราช 2560
เลขาธิการพระราชวัง รับพระราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระบรมชนกนาถ เสด็จสวรรคตจะบรรจบครบรอบ 1 ปี ในวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2560 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล มีกำหนดการ ดังนี้
วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง
เวลา 17 นาฬิกา เสด็จพระราชดำเนินเข้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททรงวางพวงมาลาของส่วนพระองค์และพวงมาลาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 แล้วทรงจุดธูปเทียน เครื่องทองน้อยและเครื่องราชสักการะกราบถวายบังคมพระบรมศพ ชาวพนักงานประโคมมโหระทึก สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะ ปี่พาทย์ ทหารกองเกียรติยศพระบรมศพถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทรงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวารที่หน้าพระแท่นมหาเศวตฉัตร พระสงฆ์ 30 รูปสวดพระพุทธมนต์และสวดคาถาพิเศษ
จบ พระสงฆ์สดับปกรณ์ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา ออกจากพระที่นั่ง เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์ที่จะถวายพระธรรมเทศนาและสวดธรรมคาถาขึ้นนั่งยังอาสน์สงฆ์ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรมพระราชาคณะถวายศีลและถวายพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 จบ พระสงฆ์ 4 รูปสวดธรรมคาถา แล้วทรงประเคนเครื่องไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์และทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์ทั้งนั้นสดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เสด็จพระราชดำเนินไปทรงจุดธูปเทียนที่แท่นเตียง พรสวดพระอภิธรรม เสด็จพระราชดำเนินกลับ
วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง
เวลา 10 นาฬิกา 30 นาที เสด็จพระราชดำเนินเข้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยและเครื่องราชสักการะ กราบถวายบังคมพระบรมศพ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวารที่หน้าพระแท่นมหาเศวตฉัตร พระสงฆ์ 30 รูป ที่สวดพระพุทธมนต์แต่วันก่อนถวายพรพระ จบ ทรงประเคนภัตตาหารพระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จแล้ว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ทั้งนั้นถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา ออกจากพระที่นั่ง เจ้าพนักงานนิมนต์พระสงฆ์อีก 89 รูป เท่าพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สวดมาติกา สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เสด็จพระราชดำเนินกลับ

http://news.sanook.com/3741910/

วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

คำแถลงปิดคดีของนายกฯยิ่งลักษณ์ 1สค.2560




คำแถลงปิดคดีของนายกฯยิ่งลักษณ์ 
วันอังคารที่ 1 สิงหาคม 2560
ยาวมาก มี 19 หน้าลงไว้ให้อ่านสำหรับท่านที่ชอบอ่านนะครับ...


กราบเรียนองค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ
ก่อนอื่นดิฉันขอกราบขอบพระคุณองค์คณะผู้พิพากษา ที่อนุญาตให้ดิฉันแถลงปิดคดีด้วยตนเองในวันนี้ เพิ่มเติมจากคำแถลงการณ์ปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร
ดิฉันขอใช้โอกาสนี้ กล่าวกับทุกท่านอย่างหมดใจในวันนี้ ในเรื่องที่ดิฉันถูกดำเนินคดีโดยไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมและตลอดเวลาที่ดิฉันได้นั่งรับฟังการพิจารณาคดีนี้ นับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559 และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 รวมการไต่สวนของศาลในคดีนี้ทั้งหมด 26 นัด เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือนที่ดิฉันไม่เคยขาดนัดพิจารณาคดีของศาลแม้แต่สักครั้งเดียว ทั้งนี้เพราะดิฉันมั่นใจในความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาที่มีต่อดิฉัน
ด้วยความเคารพต่อทุกท่านที่เป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนี้ หากมีถ้อยคำใดที่ดิฉันเปิดใจกล่าวอย่างตรงไปตรงมานั้น ดิฉันไม่ได้มีเจตนาอื่นใดและไม่ได้ประสงค์จะใส่ร้ายหรือใส่ความผู้ใด ดิฉันเพียงต้องการให้การพิพากษาคดีที่ดิฉันถูกกล่าวหาในครั้งนี้เป็นไปโดยถูกต้อง เที่ยงธรรม ตามรัฐธรรมนูญกฎหมาย ภายใต้หลักนิติธรรมที่ดิฉันไม่เคยได้รับจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโจทก์ในคดีนี้มาก่อน

ดิฉันขอเรียนแก้ข้อกล่าวหา ในเรื่องสำคัญ 6 เรื่อง ตามลำดับ ดังนี้
เรื่องที่ 1 ดิฉันถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้ดิฉันจบการศึกษาทางรัฐศาสตร์แต่ดิฉันได้มีโอกาสรับรู้คำกล่าวของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานศาลฎีกาและอดีตประธานองคมนตรีที่ได้กล่าวไว้ว่า “ตำรวจเปรียบประหนึ่งต้นกระแสธารแห่งความยุติธรรม อัยการเป็นกลางน้ำ ศาลเป็นปลายน้ำ ต้นน้ำจึงต้องใสสะอาด จึงจะทำให้ปลายน้ำใสสะอาดตาม หากต้นน้ำขุ่นมัวเสียแล้วปลายน้ำก็จะขุ่นมัวตาม ราษฎรก็จะไม่ได้รับความยุติธรรม”
คดีนี้ มีข้อพิรุธมากมาย ตั้งแต่ชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชั้นก่อนโจทก์ฟ้องคดี ชั้นฟ้องคดีและไต่สวนในศาล ดังนี้

1. ชั้นกล่าวหาและชี้มูลความผิดโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นต้นน้ำ
มีการเร่งรีบรวบรัดชี้มูลความผิด
โดยเริ่มต้นจากการแจ้งข้อกล่าวหา การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นต้นน้ำและการฟ้องคดีของโจทก์ ซึ่งถือเป็นกลางน้ำทุกท่านจะเห็นข้อพิรุธถึงความขุ่นมัวของต้นน้ำและกลางน้ำ ตามข้อเท็จจริงที่ดิฉันได้นำสืบต่อศาลเป็นข้อยุติแล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. เริ่มต้นกล่าวหาดิฉันด้วยพยานเอกสารเพียง 329 แผ่น ใช้เวลาไต่สวนเพียง 79 วัน และชี้มูลความผิดดิฉันหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ดิฉันพ้นจากตำแหน่งเพียง 1 วัน
เร่งรีบชี้มูลทั้ง ๆ ที่ข้อกล่าวหาต่อบุคคลอื่นในเรื่องทุจริตการระบายข้าวซึ่งเป็นระดับปฏิบัติการยังไม่มีข้อสรุป และเรื่องดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยืนยันตลอดมาว่าไม่เกี่ยวข้องกับดิฉัน

2. ชั้นก่อนโจทก์ฟ้องคดี
ก่อนการฟ้องคดีอัยการสูงสุดเห็นว่า รายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะดำเนินคดีกับดิฉันได้ ในสาระสำคัญ 4 ประเด็น คือ
ประเด็นโครงการรับจำนำข้าวว่าดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรี ประธาน กขช. จะยับยั้ง หรือยกเลิกโครงการที่เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภาตามกฎหมาย ได้หรือไม่ อย่างไร 
ประเด็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 
ประเด็นการทุจริต 
และประเด็นเรื่องความเสียหายในคดีนี้ยังเป็นปัญหาที่ฝ่ายโจทก์แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. และโจทก์ ต้องมีภาระพิสูจน์ถึงความเสียหายว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเสียหายนั้นมากมายถึงขนาดที่ดิฉันต้องยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวทั้งๆ ที่ยังไม่มีตัวเลขความเสียหายแน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าใด
ดังนั้น ทุกประเด็นล้วนแต่มีข้อไม่สมบูรณ์ และไม่มีพยานหลักฐานพอที่จะดำเนินคดีได้
แต่สุดท้ายก็มีการตัดสินใจฟ้องทั้งๆ ที่ไม่มีการรวบรวมพยานหลักฐานตามที่อัยการสูงสุด แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ กล่าวคือ
วันที่ 3 กันยายน 2557 อัยการสูงสุดเสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างฝ่ายอัยการสูงสุดและฝ่ายคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อจะรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งๆ ที่คณะทำงานร่วม ฯ ดังกล่าว มิได้ดำเนินการใด ๆ ตามที่แจ้งข้อไม่สมบูรณ์
แต่ในวันที่ 23 มกราคม 2558 อัยการสูงสุดกลับแถลงว่าจะฟ้องคดีกับดิฉันก่อนที่ สนช. จะได้ลงมติถอดถอนดิฉันเพียง 1 ชั่วโมงซึ่งทำให้สังคมตั้งคำถามว่า การแถลงข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นการดำเนินการเพื่อชี้นำการลงมติถอดถอนดิฉันหรือไม่

3. ชั้นฟ้องคดีและไต่สวนในศาล 
มีการฟ้องนอกสำนวน ป.ป.ช.
โดยฟ้องดิฉันก่อนแล้วค่อยสร้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมในภายหลัง และพบความผิดปกติของคำฟ้องที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเสื่อมสภาพของข้าวและการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งขั้นตอนการรับจำนำและขั้นตอนการระบายข้าว ที่ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนไว้ในรายงานแต่โจทก์กลับนำมากล่าวหาดิฉันโดยไม่ยึดรายงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่กฎหมายกำหนด
ส่วนในชั้นพิจารณาคดีโจทก์มีการเพิ่มเติมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งไม่เคยมีการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. อย่างมีพิรุธ 3 เรื่อง กล่าวคือ

1) เรื่อง “รายงานผลการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ” ที่หัวหน้า คสช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ เรื่องการเสื่อมสภาพของข้าว ที่เกิดขึ้นภายหลังฟ้องคดี
ด้วยคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ไม่มีประสบการณ์เรื่องข้าวจึงทำให้เกิดข้อสังเกตและข้อพิรุธว่า
การจัดระดับเกรดข้าวเป็น เกรด A B C เพื่อดำเนินการระบายข้าวโดยไม่เคยมีมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ และไม่เคยมีรัฐบาลใดตั้งแต่ ตั้งกระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการเช่นนี้มาก่อน
ดิฉันจึงขอตั้งข้อสังเกตว่าการจัดระดับคุณภาพข้าวดังกล่าวเป็นการสร้างเรื่อง และสร้างพยานหลักฐานขึ้นใหม่ จงใจให้เห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวไม่มีมาตรการที่เหมาะสมในการรักษาข้าวในสต็อกของรัฐเพื่อเอาผิดกับดิฉัน ทั้งในคดีนี้และคดีเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งต่อดิฉัน
ในที่สุดก็มีพยานหลักฐานสำคัญว่า การจัดคุณภาพข้าวโดยจัดระดับเกรด A B C เพื่อการระบายข้าวนั้นผิดพลาด ล้มเหลว และเกิดความเสียหาย จนทำให้หัวหน้า คสช. ในฐานะประธานกรรมการ นบข. เสนอให้ยกเลิกการระบายข้าวในสต็อกของรัฐแบบแบ่งเกรดกลับมาใช้วิธีการประมูลข้าวแบบขายยกคลัง เช่น ที่รัฐบาลดิฉันและทุกรัฐบาลเคยดำเนินการมา ปรากฏตามรายงานการประชุม นบข. ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559
แต่แล้วความผิดพลาดดังกล่าวไม่ได้ยุติลงแต่อย่างใด แต่นำมาสู่ปัญหาดังที่ศาลที่เคารพได้ทราบจากข่าวในขณะนี้ว่ามีการนำข้าวดีที่คนยังบริโภคได้ไปประมูลขายเข้าสู่อุตสาหกรรมเป็นอาหารสัตว์ ตามที่ดิฉันได้เคยร้องขอต่อศาลให้เผชิญสืบในเรื่องนี้แล้ว
ดิฉันจึงขอความเมตตาที่ศาลจะไม่รับฟังผลการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าว ที่โจทก์อ้างเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมภายหลังนอกเหนือจากสำนวน ป.ป.ช. ด้วย

2) มีการอ้างเรื่อง การสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเพื่อใช้เป็นพยานเอกสาร ไว้ล่วงหน้านานหลายเดือน ทั้งๆ ที่การสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 จึงมีข้อพิรุธเสมือนโจทก์รู้ผลการสอบสวนล่วงหน้าว่าจะเป็นประโยชน์กับโจทก์ ในการที่จะนำมาเป็นหลักฐาน กล่าวอ้างเรื่องความเสียหายกับดิฉัน ซึ่งข้อพิรุธและความไม่เป็นธรรมนี้สอดคล้องกับข้อสั่งการของหัวหน้า คสช. ในฐานะประธาน นบข. ที่มีต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ที่สอบสวนเรียกค่าเสียหายต่อดิฉันว่า “โดยไม่ต้องพิจารณาประเด็นยุติธรรม” ปรากฏตามรายงานการประชุม นบข. ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558

3) เรื่อง การทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ในคดีที่กล่าวหาบุคคลอื่น ซึ่งมีการชี้มูลความผิดหลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดดิฉันแล้วนำพยานเอกสารกว่า 60,000 แผ่นในคดีดังกล่าว มาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีของดิฉันทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่โดยตรงของนายกรัฐมนตรีเสมือนจะทำให้เห็นว่าดิฉันมีความเกี่ยวพันกับความไม่ถูกต้อง
ถือเป็นการสร้างเรื่องและการเพิ่มพยานหลักฐานใหม่โดยมิชอบในลักษณะเอาตัวดิฉันมาดำเนินคดีไว้ก่อนแล้วค่อยหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นศาลภายหลัง นอกจากจะไม่เป็นธรรมแล้วถือเป็นการชี้นำการพิจารณาคดีของศาลและต่อสังคมว่าดิฉันเป็นผู้ผิดและต้องรับผิดชอบในความเสียหายทั้งๆ ที่คดีอาญายังไม่สิ้นสุด
โดยรัฐบาลปัจจุบันได้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารราวกับเป็นฝ่ายตุลาการเสียเองด้วยการออกคำสั่ง ทางปกครองสั่งให้ดิฉันชดใช้ค่าเสียหายถึง 35,000 แต่เพียงผู้เดียว ใช้อำนาจของ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยมิชอบและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับดังกล่าวและเมื่อวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมาได้ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 สั่งให้กรมบังคับคดียึดและถอนเงินในบัญชีธนาคารของดิฉันไปหมดแล้วถือเป็นการชี้นำสังคมให้เข้าใจดิฉันผิดเสมือนชี้นำคดีอย่างไม่เป็นธรรม
และดิฉันเชื่อว่าไม่มีใครที่ดำเนินนโยบายสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประเทศ แล้วถูกกระทำเช่นนี้มาก่อนต้องถูกยึดทรัพย์ก่อน ทั้ง ๆ ที่คดีอาญายังไม่ได้ตัดสินซึ่งขัดกับหลักยุติธรรมสากลและรัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 29 ที่ระบุว่า “...ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้...”
ดิฉันว่าคงไม่มีใครที่ต้องรับชะตากรรมที่หนักหนาและไม่เป็นธรรมมากเท่ากับดิฉันอีกแล้ว และคงไม่มีผู้นำคนใดที่จะกล้านำนโยบายมาดำเนินการเพื่อประชาชนอีกต่อไปค่ะ
ดิฉันขอกราบเรียนว่าจากการชี้มูลความผิด และการฟ้องคดีของโจทก์ด้วยเอกสารเพียงไม่กี่ร้อยแผ่นในคดีของดิฉันกลับมีเอกสารที่โจทก์นำมาเพิ่มขึ้นใหม่ในชั้นศาลถึง 60,000 กว่าแผ่น จึงมิใช่เป็นการเพิ่มเติมพยานตามสมควรแล้ว แต่กลับเป็นการเพิ่มเติมพยานหลักฐาน โดยไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
เพราะรัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 235 วรรค 6 ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ได้บัญญัติเป็นเงื่อนไขไม่ให้ ไต่สวนเพิ่มเติมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่ หากไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมอันขัดหรือแย้งต่อกฎหมายที่ศาลใช้ในการพิจารณาคดี ดิฉันจึงเห็นโดยสุจริตในฐานะของคนที่ตกเป็นจำเลย และควรจะได้รับสิทธิ์ในการดำเนินคดีว่าการพิจารณาพิพากษาคดีควรสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯ 2560 ที่บังคับใช้แล้ว
ด้วยความเคารพต่อศาล ดิฉันมีความจำเป็นต้องกล่าวไว้ ณ ที่นี้ แม้ว่าดิฉันได้ยื่นคำร้องต่อศาลนี้ถึง 3 ครั้ง เพื่อโต้แย้งและร้องขอสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่จำเลยในคดีอาญาต้องได้รับ ในการที่จะขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 แต่ศาลได้ยกคำร้องของดิฉัน ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีโอกาสวินิจฉัยสิทธิ์ของจำเลยที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ทำให้ดิฉันมีข้อสงสัยว่าจะยึดสำนวน ป.ป.ช. ตามที่กฎหมายกำหนดหรือยึดหลักฐานใหม่กว่า 60,000 แผ่น นอกสำนวน ป.ป.ช. อย่างไรก็ตามดิฉันขอวิงวอนต่อศาลที่เคารพได้โปรดอำนวยความยุติธรรม โดยมิต้องพิจารณาเอกสารกว่า 60,000 แผ่น ที่โจทก์เพิ่มเข้ามาในสำนวนเพื่อเป็นผลร้ายต่อดิฉัน
............................................................................................................

เรื่องที่ 2 นโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ และดำเนินการตามกฎหมาย
ข้อกล่าวหาของโจทก์ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งมีประเด็นที่ดิฉัน ขอแก้ข้อกล่าวหาและขอความเป็นธรรม ดังนี้
โครงการรับจำนำข้าวคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์ และมีหลักการทางเศรษฐศาสตร์รองรับ การกำหนดนโยบายเป็นการดำเนินการต่อยอดโครงการรับจำนำข้าวในอดีต ที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 30 ปี
การกำหนดราคาข้าวเปลือกเจ้า ที่ราคา 15,000 บาท ที่ความชื้นไม่เกิน 15 % คณะรัฐมนตรีมีเจตนาดำเนินโครงการ เพื่อทำให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดสูงขึ้น และแก้ปัญหาหนี้สินของชาวนา ที่เรื้อรังยาวนานมาหลายสิบปี จึงมิใช่การดำเนินนโยบายเพื่อให้เป็นประโยชน์กับผู้ใดผู้หนึ่งตามที่กล่าวหาแต่เป็นการยกระดับรายได้ของชาวนา จำนวนกว่า 15 ล้านคน หรือกว่า 23% ของประชากรทั้งประเทศให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ด้วยรายได้ที่เทียบเคียงกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตด้วยเม็ดเงินที่หมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง
โครงการรับจำนำข้าวได้ถูกพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจทั้งในระดับรากหญ้าและระดับมหภาคมิได้ทำให้เกิดความเสียหาย ดิฉันจึงได้มุ่งมั่นตั้งใจที่จะดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จนโยบายรับจำนำข้าวเป็นการดำเนินนโยบายโดยสุจริตถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. เป็นการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามที่รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 84 (8) กำหนดไว้ให้รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ให้แก่ชาวนา กล่าวคือ
ชาวนาเป็นผู้ผลิตแต่ไม่สามารถกำหนดราคาได้กลับถูกกดราคาโดยพ่อค้าคนกลางมาโดยตลอด จึงต้องกำหนดราคารับจำนำที่ 15,000 บาท ที่ความชื้นไม่เกิน 15% เพื่อยกระดับราคาข้าวให้สูงขึ้นทั้งตลาด ซึ่งจะส่งผลให้คนที่เข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมโครงการได้รับประโยชน์ด้วย
อีกทั้งยังเป็นการยกระดับรายได้ของชาวนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
ดังนั้น เรื่องที่กล่าวหาว่าคณะรัฐมนตรีกำหนดราคารับจำนำข้าวสูงกว่าราคาตลาด และขายในราคาที่ต่ำกว่าราคารับจำนำนั้น
ดิฉันขอยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด และเกิดความเสียหายตามที่โจทก์กล่าวหาแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังกำไรกับชาวนา แต่เป็นการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตราบใดที่ประชากรยังมีความยากจน จึงเป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลที่จะต้องดูแล ซึ่งไม่ต่างกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น ก็ยังต้องมีนโยบายหรือมาตรการในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย
2. เป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา อันมีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามตามรัฐธรรมนูญ ฯ 2550 มาตรา 75 มาตรา 176 และมาตรา 178 ซึ่งโจทก์เองก็ยอมรับในคำฟ้องว่าดิฉันมีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
3. เป็นการดำเนินการตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2555 ถึง 2558 ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและกฎหมายมีสภาพบังคับให้ดิฉันและคณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตาม
ดังนั้น การดำเนินการตามโครงการรับจำนำข้าวจึงไม่ใช่การปฏิบัติราชการ ที่ขัดต่อนโยบาย หรือขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี
…………………………………………………………………………..

เรื่องที่ 3 ดิฉันไม่ได้เพิกเฉย ละเลย และไม่มีอำนาจระงับยับยั้งโครงการตามอำเภอใจ กระบวนการ ขั้นตอน และวิธีการบริหารนโยบายรับจำนำข้าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้
การดำเนินโครงการเมื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา ดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายไม่อาจดำเนินการหรือสั่งการได้โดยลำพัง จึงได้กำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ และวิธีการ ในการดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการเพื่อ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ เพราะการดำเนินโครงการ มีความเกี่ยวข้องกับกระทรวง กรม ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจต่างๆ จำนวนมาก อีกทั้งเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบที่มีอยู่หลายฉบับ ที่ดิฉันเองในฐานะนายกรัฐมนตรีไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้โดยลำพัง
ดิฉันจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ กขช. และคณะอนุกรรมการต่าง ๆ โดยเฉพาะงานแต่ละด้าน กว่า 13 คณะ เพื่อ “การบูรณาการ” ในการร่วมกันพิจารณากำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติ แผนงานในการขับเคลื่อนให้หน่วยราชการเห็นชอบ ซึ่งรวมถึงหน่วยงานหลักที่สำคัญ และมีหน้าที่ความรับผิดชอบอยู่แล้ว เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานปฏิบัติอย่างระดับกระทรวง กรม ล้วนไม่เคยมีข้อท้วงติงหรือให้ยุติหรือระงับยับยั้งโครงการ
การบริหารโครงการรับจำนำข้าวเป็นไปภายใต้ “ข้อจำกัดของการใช้อำนาจ” เพราะทุกหน่วยงานในระบบราชการบูรณาการการทำงาน โดยมีกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพหลัก รวมทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการ กขช. และคณะอนุกรรมการกว่า 13 คณะ อันเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่ายและตามสายงานการบังคับบัญชาที่มีอยู่ เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
ดิฉันได้แสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งด้วยการกำหนดให้มีแนวทางในการป้องกันการทุจริต และป้องกันความเสียหายที่ดิฉันได้ให้นโยบายและสั่งการในที่ประชุม กขช. ครั้งแรก ก่อนเริ่มดำเนินโครงการให้กับคณะทำงานและฝ่ายปฏิบัติว่า “ให้เคร่งครัดในเรื่องกระบวนการของข้าวให้เกิดความสุจริต โปร่งใส และสั่งการให้มีการบูรณาการและปรับปรุงระบบกระบวนการรับจำนำข้าวให้เกิดความสุจริตและโปร่งใส นำความชอบธรรมและความชัดเจนกับทุกหน่วยงาน และเน้นย้ำว่าการดำเนินงานในส่วนที่ผ่านมามีสิ่งใดคงค้างให้นำมาปรับปรุงและแก้ไขให้เสร็จสิ้น ให้มีการดูแลในเรื่องการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้น” ซึ่งศาลที่เคารพสามารถตรวจสอบได้จากรายงานการประชุม กขช. ครั้งที่ 1/2554
ดังนั้นเมื่อเริ่มดำเนินการก็มีการกำหนดขั้นตอนและกระบวนการให้เกิดการคานอำนาจและถ่วงดุลมีการติดตามตรวจสอบตามระเบียบของการบริหารราชการแผ่นดินอันเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีทำแผนงาน โครงการตามเป้าหมายจึงไม่สามารถที่จะยกเลิก และเปลี่ยนแปลงได้ตามอำเภอใจในลักษณะที่นึกจะทำก็ทำหรือนึกจะเลิกก็เลิก เพราะที่มาของโครงการฯ ก็มีกระบวนการตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายผูกพันให้ต้องปฏิบัติ
ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติอย่างหนึ่งอย่างใดในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ภายใต้หลักการถ่วงดุลตามที่กล่าวมาและในการประชุม กขช. ครั้งแรก ดิฉันก็ได้ให้นโยบายและมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ ดังนั้นการประชุมคณะกรรมการ กขช. ในครั้งต่อ ๆ มา
ดิฉันในฐานะประธาน กขช. ไม่ได้ละเลยและไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะดิฉันได้มอบหมายให้บุคคลระดับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นประธานในการประชุม กขช. แต่ละครั้ง เพราะจะใกล้ชิดติดตามงานได้ดีกว่าดิฉันที่มีภารกิจอีกมากมาย หากมีประเด็นพิจารณาใดย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่จะมารายงานต่อคณะรัฐมนตรีและดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
ดิฉันขอกราบเรียนว่า ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีมีความรับผิดชอบร่วมกัน แต่โจทก์เข้าใจผิดว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจเต็มในมือคนๆ เดียว และจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ดิฉันขอเรียนว่า แม้ดิฉันเป็นนายกรัฐมนตรีแต่ในการปฏิบัติงาน กระทรวงและส่วนราชการที่ปฏิบัติงานร่วมกับคณะกรรมการ กขช. และคณะอนุกรรมการต่าง ๆ มีหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมายของแต่ละฝ่ายกำกับไว้อยู่แล้วดิฉันจึงไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจ และไม่อาจกระทำการใด ๆ ที่จะไปล้วงลูกสั่งการ หรือชี้นำในระดับปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ของผู้หนึ่งผู้ใด
แม้กระทั่งผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็คงเข้าใจถึงข้อจำกัดนี้ดี จึงต้องการอำนาจพิเศษ คือ มาตรา 44 ในการสั่งงาน บริหารราชการแผ่นดินที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างรัฐบาลของดิฉันไม่สามารถทำได้
…………………………………………………………………..

เรื่องที่ 4 
การไม่ระงับยับยั้งโครงการ เนื่องจากโครงการมีประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายตามฟ้อง
การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแต่โครงการมีความคุ้มค่าไม่เป็นภาระต่องบประมาณที่เกินสมควรหรือเป็นปัญหาต่อหนี้สาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด จึงไม่เสียวินัยการเงินและการคลังของประเทศจนกระทั่งต้องระงับหรือยุติโครงการ
ดิฉันขอเรียนว่า
การดำเนินโครงการมีประโยชน์และมีความคุ้มค่าต่อการดำเนินภารกิจภาครัฐ ตามที่กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินความคุ้มค่าที่ต้องไม่คำนึงเฉพาะรายจ่ายหรือประโยชน์ที่คำนวณเป็นตัวเงินได้เฉพาะของโครงการเท่านั้นแต่ต้องพิจารณาถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศและประโยชน์อื่น ๆ โดยรวมที่สังคมได้รับจากโครงการนั้นด้วย
เพราะภารกิจของภาครัฐมิใช่กระทำเพื่อแสวงหากำไร แต่เป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ตามที่กำหนดไว้ในแผนการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งถือเป็นเรื่องสาระสำคัญที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และโจทก์ มิได้พิจารณาถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศและประโยชน์อื่นๆ ของโครงการและไม่สามารถหักล้างพยานของดิฉันว่าโครงการมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งที่คำนวณเป็นตัวเงินได้และประโยชน์อื่นๆ ดังนี้
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 คณะกรรมการ กขช. ได้มีการรายงานประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมทั้งประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของโครงการรับจำนำข้าว ฤดูกาลผลิต 2554/55 และฤดูกาลผลิต 2555 รวม 394,788 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าตัวเลขที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ อ้างว่าขาดทุนทางบัญชี 220,969 ล้านบาท อยู่ที่ 173,819 ล้านบาท
วันที่ 18 มิถุนายน 2556 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่รายงานตรงถึงดิฉันยืนยันว่าโครงการสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวนาเพิ่มขึ้น และระบุว่า มีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการรับจำนำข้าวจนถึงปี 2558 ซึ่งประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการปรับตัวและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เข้มแข็งเพียงพอ
โครงการรับจำนำข้าวได้สร้างความมั่นคงทางรายได้และสร้างความพึงพอใจให้กับเกษตรกร ตามที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายไว้จริงมีหลักฐานปรากฏตามรายงานวิจัยของมหาวิทยาลัยบูรพา ที่ได้ประเมินโครงการไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2555 และผลการสำรวจของ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556
ผลการวิจัยของคณะวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตลอด 5 ฤดูกาลผลิต ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวม ขยายตัว 3.726 รอบ หรือมีมูลค่าผลรวมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1,088,697 ล้านบาท หรือมากกว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปและงบประมาณที่ต้องชดเชยในโครงการจากพยานหลักฐานและตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงความคุ้มค่าของโครงการอย่างชัดเจน
ในระหว่างการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวทำให้เกิดกำลังซื้อในภาคครัวเรือนมากขึ้นส่งผลให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีต่างๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มปรากฏตามหลักฐานที่ได้อ้างต่อศาลแล้ว
กราบเรียนองค์คณะผู้พิพากษาที่เคารพ
ดิฉันขอกราบเรียนว่าแม้รายงานของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี ครั้งที่ 3 ที่อ้างผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวแต่คณะกรรมการ กขช. และคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นก็ได้รับทราบถึงประโยชน์ความคุ้มค่าและความจำเป็นในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวตามที่กล่าวมาจึงไม่มีการเสนอให้ดิฉันยุติหรือระงับยับยั้งโครงการ
นอกจากนี้ ปรากฏหลักฐานสำคัญจากคำเบิกความของนางสาวสุภา ปิยะจิตติ พยานโจทก์ผู้ทำหน้าที่จัดทำรายงานดังกล่าวรับต่อศาลว่า “ผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจที่ไม่เป็นตัวเงิน และผลประโยชน์ที่เป็นทางอ้อมไม่ใช่หน้าที่ของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีแต่เป็นหน้าที่ของสภาพัฒน์” ซึ่งสภาพัฒน์ก็มีความเห็นเสนอต่อดิฉันและคณะรัฐมนตรีว่าโครงการสามารถทำให้ชาวนามีรายได้ที่สูงขึ้น และมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการจนถึงปี 2558 ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว
การดำเนินโครงการเป็นไปตามกรอบกฎหมายและกรอบเพดานหนี้สาธารณะ จากคำเบิกความของนางสาว ศิรสา กันต์พิทยา เจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง พยานโจทก์ที่ให้การในชั้น ป.ป.ช. และเบิกความในชั้นศาล ยืนยันว่า “การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวตลอด 5 ฤดูกาลผลิตเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายบัญญัติและกรอบเพดานหนี้สาธารณะ” รวมทั้งเอกสารแผนการบริหารหนี้สาธารณะที่คำนวณสัดส่วนหนี้สาธารณะ ต่อ GDP และสัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณ ว่าเป็นไปตามกรอบความยั่งยืนทางการคลังอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้การใช้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันและเงินทุน ธ.ก.ส. เป็นไปตามกรอบเงินทุนหมุนเวียนที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยมีพยานหลักฐานสำคัญ คือ
1) ก่อนหน้าวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่รัฐบาลดิฉันพ้นหน้าที่กระทรวงการคลังได้รายงานสถานะเงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันและเงินทุน ธ.ก.ส. เป็นไปตามกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยยังคงเหลือ 13,244 ล้านบาท ส่วนเงินทุน ธ.ก.ส. ยังคงเหลืออยู่อีก 22,951 ล้านบาท ปรากฏตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557
2) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 กระทรวงการคลังได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลปัจจุบันโดยยืนยันว่าสถานะหนี้คงค้างจากการดำเนินโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร ปีการผลิต 2554/55 ถึง ปีการผลิต 2556/57 ทั้งในส่วนเงินกู้ ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันและเงินทุน ธ.ก.ส. อยู่ภายในกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
3) ในขณะดำเนินคดีโจทก์ได้มีหนังสือถึงสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสอบถามถึงการใช้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ซึ่งโจทก์ได้รับการยืนยันถึง 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 และเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 ว่า การใช้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ยังคงอยู่ในกรอบตามที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2556 เช่นกัน
อีกทั้ง นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. ฝ่ายนโยบายรัฐพยานโจทก์ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงได้เบิกความยืนยันต่อศาลว่าในส่วนเงินทุน ธ.ก.ส. จำนวน 90,000 ล้านบาท ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีทุกประการ
ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า
1) โครงการรับจำนำข้าวมีประโยชน์ มีความคุ้มค่า
2) การดำเนินโครงการ ยังเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายบัญญัติ เป็นไปตามกรอบเพดานหนี้สาธารณะและรักษาวินัยการเงินการคลัง
3) ไม่มีหน่วยงานใดที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินโครงการเสนอต่อดิฉันและคณะรัฐมนตรีให้ยุติหรือระงับยับยั้งการดำเนินโครงการ
4) เนื่องจากการดำเนินโครงการไม่ขัดต่อนโยบายมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมาย
ดังนั้น จะให้ดิฉันใช้อำนาจนายกรัฐมนตรียุติหรือระงับยับยั้งโครงการได้อย่างไร
......................................................................................................................

เรื่องที่ 5 ดิฉันไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดหรือโดยทุจริตตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาหรือ มาตรา 123/1 พ.ร.บ. ป.ป.ช.
ในกรณีที่ ป.ป.ช. และ สตง. มีหนังสือท้วงติงมายังรัฐบาลเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า 2 หน่วยงานดังกล่าวไม่มีภารกิจและหน้าที่ตามกฎหมายที่จะสั่งให้ฝ่ายบริหารยับยั้ง การดำเนินนโยบายสาธารณะ ที่ได้แถลงต่อรัฐสภานอกจากนั้น สตง. และ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการและยังใช้ข้อมูลจากการเสนอข่าว โดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องซึ่งไม่มีกฎหมาย ใด ๆ บังคับให้ฝ่ายบริหารต้องยับยั้งโครงการตามหนังสือของ 2 หน่วยงานดังกล่าว..

..ยังมีต่อ..

แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=908270589311275&id=100003850270527

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

คำแถลงของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย



คำแถลงของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย

คำแถลงว่าด้วยการเผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2558

วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การค้ามนุษย์เป็นปัญหาระดับโลกที่มีความซับซ้อนและต้องอาศัยความร่วมมือ การดำเนินงานร่วมกัน รวมทั้งความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลทุกประเทศในอันที่จะบรรลุความก้าวหน้าที่ชัดเจนและสัมฤทธิผลที่ประเมินได้สหรัฐอเมริกามุ่งสืบสานการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ทางการบุคลากรฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานภาคประชาสังคมของไทยด้วยจิตวิญญาณแห่งความร่วมมือในยามนี้ที่ประเทศไทยกำลังดำเนินงานปราบปรามการค้ามนุษย์

เมื่อวันที่27กรกฎาคม ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ซึ่งประเทศไทยยังคงอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) โดยรายงานประจำปี พ.ศ. 2558 นี้ครอบคลุมความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาลประเทศต่างๆ ระหว่างวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2558 แม้ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์และการประสานงานระหว่างหน่วยงานการปราบปรามการค้ามนุษย์แต่ทว่าในช่วงเวลาของการทำรายงาน ไทยมิได้ดำเนินการที่จำเป็นอย่างเพียงพอที่จะบรรลุผลความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ยากลำบากนี้การจัดระดับประเทศในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์พิจารณาจากการประเมินบันทึกการดำเนินการปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศอย่างละเอียดถี่ถ้วนโดยมิได้คำนึงถึงบริบททางการเมืองของประเทศนั้นๆ

เราจะยังคงสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐของไทยดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นในการปราบปรามการค้ามนุษย์ตลอดช่วงการทำรายงานฉบับปี2559และตลอดไป เราขอสนับสนุนให้รัฐบาลไทยใช้กรอบกฎหมายที่ปรับปรุงแก้ไขตลอดจนแนวทางการแก้ปัญหาโดยรวมของรัฐบาลเพื่อขยายความพยายามเชิงรุกอย่างต่อเนื่องในการระบุตัวเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ถูกบังคับใช้แรงงานและเพื่อธุรกิจทางเพศออกจากกลุ่มประชากรที่อ่อนแอทั้งหลายรวมทั้งให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมนอกจากนี้ เราขอให้รัฐบาลไทยเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนรู้เห็นในการค้ามนุษย์ โดยดำเนินการสืบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด รวมถึงผู้บังคับใช้แรงงานในเรือประมงหรือผู้ก่ออาชญากรรมการค้ามนุษย์เพื่อธุรกิจทางเพศ

เราชื่นชมที่นับตั้งแต่วันที่31มีนาคมเป็นต้นมา ทางรัฐบาลไทยได้ยกระดับความพยายามในการปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งรวมถึงความพยายามในการสร้างหน่วยงานพิเศษภายใต้การกำกับดูแลของศาลอาญาเพื่อพิจารณาคดีค้ามนุษย์และจับกุมบุคคลจำนวนมากที่อาจมีส่วนร่วมก่ออาชญากรรมการค้ามนุษย์และละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆกับแรงงานข้ามชาติในภาคใต้ของไทยรายงานฯ ของปีหน้าจะครอบคลุมการดำเนินการหลังวันที่ 31 มีนาคม

ตลอดปีหน้านี้ สหรัฐฯ คาดว่าจะมีการดำเนินความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ กับไทยทั้งในประเทศไทยและบนเวทีระหว่างประเทศว่าด้วยประเด็นสำคัญนี้ สหรัฐฯ จะยังคงมอบความช่วยเหลือทางวิชาการเฉพาะด้านตามที่รัฐบาลไทยร้องขอในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนและดำเนินคดีปราบปรามการค้ามนุษย์อีกทั้งให้การสนับสนุนเพื่อสร้างเสริมศักยภาพของสถาบันด้านการบังคับใช้กฎหมายและหลักนิติธรรมซึ่งรวมถึงโครงการฝึกอบรมร่วมระดับภูมิภาคผ่านสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่กรุงเทพมหานครและสหรัฐฯจะยังคงร่วมมือกับฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของไทยจัดการคดีการค้าเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศเหมือนเช่นปีที่ผ่านมาตลอดจนสนับสนุนองค์กรในท้องถิ่นและองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยและทางการท้องถิ่นเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์และช่วยเหลือเหยื่อ

รัฐบาลสหรัฐฯมุ่งมั่นดำเนินงานร่วมกับรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยเพื่อรับมือปัญหาสำคัญนี้อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ทั่วโลกของสหรัฐฯ

คำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศไทย


เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๐๐ น. (ตามเวลาสหรัฐฯ) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี ค.ศ. ๒๐๑๕ โดยในปีนี้ประเทศไทยถูกจัดให้คงอยู่ที่ระดับ Tier 3 ของ TIP Report

ทางการไทยรับทราบผลการจัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ Tier 3 ซึ่งไม่สะท้อนความพยายามและความก้าวหน้าในการดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทยที่เกิดขึ้นจริงในช่วงปีที่ผ่านมาซึ่งมีก้าวหน้าอย่างมากในหลายด้าน

ตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันเข้าปฏิบัติหน้าที่เมื่อเดือนสิงหาคม๒๕๕๗รัฐบาลได้ “ปฏิรูป” การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งระบบส่งผลให้เกิดความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมในทุก ๆ ด้าน เช่น (๑) ด้านนโยบาย รัฐบาลได้ประกาศย้ำให้การต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติและจัดตั้งกลไกระดับชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาร่วมขับเคลื่อน มีการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (๒) ด้านการบังคับใช้กฎหมาย มีการทลายเครือข่ายผู้กระทำผิดค้ามนุษย์รายสำคัญ มีการจับกุม ดำเนินคดีและลงโทษเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ (๓) ด้านการป้องกัน มีการแก้ไขและจัดระเบียบแรงงานในภาคประมง รวมถึงการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวจำนวนกว่า ๑.๖ ล้านคนให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเช่นเดียวกับคนไทย และแก้ปัญหาที่ต้นทางโดยลดความเสี่ยงที่แรงงานเหล่านี้จะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และการถูกเอาเปรียบ (๔)ด้านการคุ้มครอง การเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกและการดูแลคุ้มครองผู้เสียหาย (๕) ด้านความร่วมมือและการสร้างความเป็นหุ้นส่วน ประเทศไทยได้มีบทบาทนำทั้งในกรอบทวิภาคีและภูมิภาคในการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและความมั่นคง

อย่างไรก็ดีรัฐบาลไทยยังคงมุ่งมั่นดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังต่อไปเพื่อความมั่นคงและมนุษยธรรม พร้อมกับเพิ่มพูนความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ตลอดจนขยายความร่วมมือกับประเทศและองค์การระหว่างประเทศต่อไป

วันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คสช.โยกย้ายตำแหน่งสำคัญ

คสช.โยกย้ายตำแหน่งสำคัญ 'อดุลย์-ธาริต' เข้ากรุ ย้าย 'ทวี' พ้นชายแดนใต้ ตั้ง 'ภาณุ อุทัยรัตน์' แทน

24 พ.ค. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกประกาศประกาศคำสั่งฉบับที่ 7, 8, 9 และ 11 มีคำสั่งแต่งตั้งให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีการโยกย้ายหลายตำแหน่ง เพื่อให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสมยิ่งขึ้น
 
โดย คสช. ได้ออกประกาศคำสั่งฉบับที่ 7 ระบุว่า 1. ให้พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัชญาการตำรวจแห่งชาติ มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อน โดยยังคงเป็นรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 6/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 2. ให้พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
ส่วนประกาศคำสั่งฉบับที่ 8 ระบุว่า 1. ให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อน 2. ให้พลตำรวจเอกชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกหน้าที่หนึ่ง โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อน ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
ประกาศคำสั่งฉบับที่ 9  ระบุว่า 1. ให้พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อน 2. ให้พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
ประกาศคำสั่งฉบับที่ 11 อีกหนึ่งฉบับ ระบุว่าเพื่อให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการต่าง ๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสมยิ่งขึ้น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้ 1. ให้ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภายใต้ มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อน 2. ให้ นาย ภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย มาปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภายใต้ อีกหน้าที่หนึ่ง โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อน ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
วัชรพล ประเดิม ผบ.ตร.สั่งเด้งรวด 8 ผบ. นครบาล ภูธร 1-2-4-5-7 ตม. สันติบาล ตั้งคนคุม / จักรทิพย์ แทน คำรณวิทย์ 
 
 
นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวว่ามีหนังสือคำสั่งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการโยกย้ายให้ข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งใหม่ ซึ่งรวมทั้งอนุมัติคำสั่งย้ายตำแหน่ง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ด้วย ทั้งนี้ก่อนหน้าที่หนังสือจะถูกเผยแพร่ เกิดข่าวลือสะพัดว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ตัดสินใจยื่นใบลาออก
 
ตามรายงานระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหนังสือคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติราชการ สนับสนุนภารกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 และ 72 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และข้อ 8(1) แห่งระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่และให้รักษาราชการแทน โดยขาดจากตำแหน่งเดิม
 
โดยข้าราชการตำรวจที่มีรายชื่อในหนังสือคำสั่งโยกย้ายครั้งนี้ ได้แก่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. , พล.ต.ท.นเรศ นันทโชต ผบช.ภ.1 , พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ ผบช.ภ.2 , พล.ต.ท.อนุชัย เล็กบำรุง ผบช.ภ.4 , พล.ต.ท.สุเทพ เดชรักษา ผบช.ภ.5 , พล.ต.ท.หาญพล นิตย์วิบูลย์ ผบช.ภ.7 , พล.ต.ท.ภาณุ เกิดลาภผล ผบช.สตม. และ พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผบช.ส.
 
ทั้งนี้ หนังสือคำสั่งยังระบุให้ข้าราชการตำรวจที่มีรายชื่อ เข้าไปรายการตัวที่ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 เวลา 09.00 น. นี้ด้วย ลงท้ายชื่อ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทน ผบ.ตร.