มติแกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดินเปิดสองฝั่งให้รถสามารถกลับรถหน้าโรงพยาบาลได้ พร้อมทั้งรื้อบังเกอร์เกาะกลางถนนในตอนบ่าย แต่ไม่ได้ถอยร่นกำลังไปที่แยกสารสินแต่อย่างใด
3 พฤษภาคม 2553
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่ง ประเทศไทยว่าจะมาพูดถึงการคลี่คลายสถานการณ์ ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เป็นการสะสมปัญหามาเป็นระยะเวลานานหลายปี ที่สะสมมาทั้งหมดทำให้เกิดความแตกแยกร้าวลึก คำตอบทางการเมืองที่อยากบอกประชาชนในวันนี้ คือการสร้างกระบวนการปรองดองขึ้นมา หากแผนการปรองดองและทำบ้านเมืองให้งสงบสุข การจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 14 พฤศจิกายน เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลพร้อมดำเนินการ โดยแผนปรองดองดังกล่าวมีองค์ประกอบดังนี้
1. ประเทศไทยเราโชคดีที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ยึดเหนี่ยวหลอมรวมคนไทยทั้งชาติ แต่น่าเสียดายที่มีคนกลุ่มหนึ่งดึงสถาบันกษัตริย์ลงมา มีความพยายามดึงสถาบันลงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง การที่จะทำให้สังคมไทยเป็นปกติสุขต้องช่วยกัน ไม่ให้ดึงสถาบันกษัตริย์ลงมา แผนการ คือ ทุกฝ่ายต้องลงมาช่วยกันทำงานเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานแก่ประชาชน ไม่ว่าเรื่องรู้รักสามัคคี อยากเชิญชวนทุกฝ่ายมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อไม่ให้ถูกดึงมาเป็นเครื่องมือความขัดแย้งทางการเมือง
2. การปฏิรูปประเทศ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งอาจจะถูกมองว่าเป็นการเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากความไม่เป็นธรรมของเรื่องเศรษฏิจ หลายคนที่มาชุมนุมอาจจะสัมผัสโดยตรงว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ขาดโอกาส ถูกรังแก สิ่งที่เราจะช่วยกันทำ คือ ไม่ปล่อยให้เป็นเหมือนในอดีตที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ที่ทำให้ระบบเกิดความไม่ เป็นธรรม
3. ในยุคปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร จริงอยู่ที่เราต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า อำนาจของสื่อถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย แม้กระทั่งสถานีของรัฐก็ถูกกล่าวหาว่านำไปเสนอให้เกิดความขัดแย้ง สื่อต้องมีเสรีภาพ แม้จะมีอิสระในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่จะไม่สร้างความขัดแย้งภายในประเทศ สร้างความเกลียดชังและนำไปสู่ความรุนแรง
4. หลังจากชุมนุมเคลื่อนไหว มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดความรุนแรงและสูญเสีย เกิดข้อสงสัยต่างๆนาๆ ไม่ว่าการสูญเสียเหตุการณ์ 10 เมษายน เหตุการณ์ที่สีลม หรือที่ดอนเมือง กระทบกระเทือนจิตใจประชาชน ทุกเหตุการณ์จำเป็นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น ต้องมีคณะกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ และให้เกิดความเป็นจริงต่อสังคม
5. เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง แม้นักการเมืองจะเป็นคนกลุ่มเล็ก แต่เป็นตัวแทนของประชาชน ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยาวนานกว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมในหลายด้าน ทั้ง รัฐธรรมนูญ กฎหมายบางฉบับ การลิดรอนสิทธิไม่ว่าจะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลิดรอน หรือการตัด หรือการเพิกถอนสิทธิ ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการเมือง ถึงเวลาเอามาวาง และมีกลไกให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย เรื่องรัฐธรรมนูญ จนถึงความผิดการชุมนุมทางการเมือง ไม่ใช่เกิดความรู้สึกไม่ยอมรับ
4 พฤษภาคม 2553
นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน แถลงผลการประชุมแกนนำ นปช.ที่เวทีการชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ เกี่ยวกับข้อเสนอแผนการปรองดอง 5 ข้อของนายกรัฐมนตรี หลังใช้เวลาประชุมกว่า 2 ชั่วโมงว่า มีข้อสรุป 4 ข้อประกอบด้วย
1. นปช.ยินดีรับข้อเสนอ แต่ขอให้รัฐบาลไปหาความชัดเจนมาก่อนว่าจะยุบสภาวันไหนคุยกันให้จบเสียก่อน
2. นปช.ต้องการความจริงใจที่รัฐบาลสามารถแสดงออกได้ด้วยการยกเลิกการคุกตาม ทุกรูปแบบ
3. นปช.ไม่ขอนิรโทษกรรมให้แก่ นปช.เองในข้อหาโค่นล้มสถาบันและการก่อการร้ายอย่างเด็ดขาดพร้อมสู้คดี
4. ต้องยุติการนำสถาบันกษัตริย์ลงสู่ความขัดแย้งในทุกมิติ
ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน แถลงบนเวทีปราศรัยว่า ขอให้ทางรัฐบาลไปหาความความชัดเจนในการยุบสภาต้องระบุวันให้ชัดเจนมาก่อน และแกนนำคนเสื้อแดงไม่ปฏิเสธเข้าร่วมกับแผนโรดแมปเพื่อป้องกันการบาดเจ็บล้ม ตาย ทางกลุ่มคนเสื้อแดงยืนยันว่าเรื่องการนิรโทษกรรม เรื่องการกล่าวหาความผิดก่อนหน้านี้ทางเสื้อแดงไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไข หากรัฐบาลกล่าวหาว่าคนเสื้อแดงเป็นการก่อการร้ายทางผู้ชุมนุมจะสู้ถึงที่สุด หากกล่าวหาว่าโค่นล้มสถาบันทางเสื้อแดงพร้อมที่จะสู้เช่นเดียวกัน และขอให้เรียกร้องมาตรฐานเดียวกันกับคดีสั่งสังหารประชาชนในเหตุการณ์เดือน เมษายนจะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมใดๆเช่นเดียวกัน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวขอให้ดีเอสไอรับไปเป็นคดีพิเศษแล้ว ดำเนินการต่อไป
7 พฤษภาคม 2553
22.45 น. บริเวณแยกศาลาแดง เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนเฝ้าที่หน้าธนาคารกรุงไทย สาขาย่อย อาคารซูลิก เฮ้าส์ ถนนสีลม ทำให้กระจกหน้าธนาคารกรุงไทย ใกล้ตู้เอทีเอ็ม แตก 1 บาน มีรอยร้าว มีรูกระสุน 1 รู มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย เบื้องต้นทราบชื่อผู้บาดเจ็บ ได้แก่ ด.ต.วิสูตร บุญยังมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจปจ. สน.บางนา ถูกยิงบาดเจ็บที่หัวไหล่ซ้าย ส.ต.ท.กานต์นุพันธ์ เลิศจันทร์เพ็ญ เจ้าหน้าที่จร. เข้าเวร ปจ.สน.ทุ่งมหาเมฆ ถูกกระสุนยิงเข้าที่ท้อง บาดเจ็บสาหัส แพทย์นำเข้าห้องผ่าตัดช่วยเหลือเป็นการด่วน ด.ต.บรรจบ โยมา อายุ 40 ปี ผบ.หมู่สภ.เกาะทวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ถูกยิงเฉี่ยวที่ข้อมือขวา ทั้งหมดถูกนำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม อีกรายเป็นชายไม่ทราบชื่อ อายุประมาณ 40 ปี รูปร่างท้วม ถูกกระสุนเจาะที่เหนือหัวเข่าซ้าย ถูกนำส่งโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจคาดว่าคนร้ายน่าจะขับขี่รถจักรยานยนต์ออกมาจาก สีลม และคนซ้อนท้ายได้ใช้ปืนกราดยิง จากถนนฝั่งตรงข้าม บริเวณร้านแมคโดนัลด์ ก่อนจะขับรถหนีออกไปถนนพระรามที่ 4
8 พฤษภาคม 2553
01.00 น. ส.ต.ท.กานต์นุพันธ์ เสียชีวิตลงหลังถูกยิงที่ช่องท้อง อย่างไรก็ตาม รายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่อง 3 รายงานว่า มือปืนได้ยิงกราดเข้ามาใส่บริเวณกลางจุดการชุมนุมของชาวสีลม ซึ่งมีประมาณ 20-30 คน ห่างจากร้านกาแฟโอบองแปงประมาณ 10 เมตร
01.25 น. สถานีโทรทัศน์ กองทัพบกช่อง 7 รายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 6 ราย ทั้งนี้ แกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิดขึ้น
01.30 น. ได้เกิดเหตุระเบิดที่บริเวณทางเข้าสวนลุมพินี ประตู 4 ถนนพระรามที่ 4 บริเวณดังกล่าวเป็นด่านตรวจความมั่นคงสนธิระหว่างตำรวจกับทหาร โดยระเบิดได้เกิดขึ้น 3 ครั้งในจุดดังกล่าว เบื้องต้นคาดว่าเป็นชนิดเอ็ม 79 เบื้องต้นมีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 4 ราย ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทราบชื่อ ด.ต.เกียรติศักดิ์ อินทรัพย์ทวี ,ส.ต.ต.ณัฐกานต์ โพธิ์น้อย ,จ.ส.ต.เกษม แก้วกุล และจ.ส.ต.วิทยา พรหมสาลี ได้รับบาดเจ็บสาหัส อาการเป็นตายเท่ากัน เนื่องจากถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่บริเวณหน้าอกขวา เลือดตกในและที่โรงพยาบาลรามาธิบดี 1 ราย ทราบชื่อ ด.ต.ชูศักดิ์ แสงเย็น ทั้งหมด เป็นชุดปราบจลาจล สภ.หางน้ำสาคร จ.ชัยนาท มีเจ้าหน้าที่ทหารบาดเจ็บอีก 3 นาย ประกอบด้วย จ.ส.อ.มงคล บุเมืองปัก ,พลทหารพีระศักดิ์ บุราธานี ,พลทหารณรงค์ชัย นิตยกุล ทั้งหมดเป็นทหารจากค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ร.23 พ.1 จังหวัดนครราชสีมา เบื้องต้นเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้นำตัวส่งโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน และจะถูกดำเนินการส่งไปยังโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จากการตรวจสอบวิถีกระสุนในเบื้องต้น คนร้ายน่าจะยิงวิถีโค้ง ข้ามสะพานลอย น่าจะเป็นการยิงมาจากทางด้านแยกศาลาแดง
ที่เกิดเหตุระเบิด ทางเข้าสวนลุมพินี ประตู 4 นั้นพบรอยระเบิด 3 แห่ง จุดแรกบริเวณกำแพงรั้วของสวนลุมพินี จุดที่สอง บริเวณกลางถนน จุดที่ 3 บนเสาไฟฟ้าใกล้ทางขึ้นสะพานลอยคนข้าม โดยเสาไฟฟ้าบิ่น แตกตรงจุดที่โดนระเบิดสูงจากพื้นประมาณ 7 เมตร โดยแรงระเบิดดังกล่าว ทำให้มีตำรวจ หทารได้รับบาดเจ็บ
05.00 น. จ.ส.ต.วิทยา พรหมสาลี เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ระเบิดที่บริเวณทางเข้าสวน ลุมพินี ประตู 4 โดยถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่บริเวณหน้าอกขวา เลือดตกใน ได้เสียชีวิตลง
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ระบุว่า การประชุม ศอฉ.ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. เป็นประธาน ได้ติดตามสถานการณ์และรายงานยอดผู้ชุมนุม โดย ศอฉ.จำเป็นต้องใช้มาตรการกดดันผู้ชุมนุมเต็มรูปแบบ เริ่มต้นจากการไม่ใช้กำลัง โดยกำหนดให้มีการตัดน้ำ ตัดไฟ สัญญาณโทรศัพท์ ระบบสาธาณูปโภค การเดินทางสาธารณะต่าง ๆ ทั้งรถโดยสารมวลชน รถไฟฟ้า และการเดินทางทางน้ำ บริเวณคลองแสนแสบ เพื่อปิดการเข้าพื้นที่ชุมนุม 100%
อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงอาจจะได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ โดยทหารที่อยู่ในพื้นที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้า-ออก พื้นที่ดังกล่าว และมาตรการต่าง ๆ จะเริ่มได้ตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป และจะหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องเพิ่มเติมในวันนี้ โดย ศอฉ.ต้องขออภัยประชาชนและทูตประเทศต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว พร้อมย้ำว่า มาตรการกดดันการเข้าพื้นที่ชุมนุมเต็มรูปแบบเป็นมาตรการขั้นเบาที่สุดแล้ว รวมทั้งได้ประสานกับผู้ประกอบการบริเวณดังกล่าวในเบื้องต้น ส่วนมาตรการหลังจากนี้ยังไม่ขอเปิดเผย
ต่อมา พ.อ.สรรเสริญ ระบุว่า มาตรการกดดันผู้ชุมนุมแยกราชประสงค์เต็มรูปแบบ ในการตัดน้ำ ตัดไฟ ระบบสาธารณูปโภค และการเดินทางสาธารณะ ทั้งทางบกและทางน้ำ ยังไม่ได้ข้อยุติที่ชัดเจน และต้องหารือร่วมกันอีกครั้งในคืนวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เพื่อกำหนดรายละเอียดว่าจะเป็นพื้นที่ใดบ้าง เพราะบริเวณดังกล่าวมีทั้งโรงพยาบาล และ สถานประกอบการต่างๆ รวมทั้งต้องมีการประเมินผลกระทบว่าระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและประชาชนที่ไม่ เกี่ยวข้อง กลุ่มใดจะได้รับผลกระทบ และความเดือดร้อนมากกว่า เนื่องจากพบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้เตรียมมาตรการรองรับในเรื่องการตัดน้ำ ตัดไฟ ส่วนเส้นทางเดินรถเมล์ ใกล้พื้นที่ชุมนุม คงจะมีการพิจารณาให้วิ่งในวงนอกต่อไป และรถแท็กซี่ อาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าในบริเวณพื้นที่ชุมนุม
พ.อ.สรรเสริญ ระบุว่า มาตรการดังกล่าวของศอฉ.อาจจะไม่ได้ดำเนินการทันทีในเวลา 24.00 น. วันที่ 12 พฤษภาคม 2553 และอาจจะเลื่อนเป็นวัน13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ขึ้นอยู่กับการหารือกำหนดรายละเอียดและข้อสรุปให้เกิดความชัดเจน เนื่องจากมีประชาชนทั่วไปโทรศัพท์เข้ามาสอบถามจำนวนมาก เพราะเกรงจะได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการนี้
13 พฤษภาคม 2553
11.30 น. ที่กรม ทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงผลการประชุม ศอฉ.ช่วงเช้าว่า การกำหนดมาตรการในการปิดล้อมสกัดกั้นพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์อย่างสมบูรณ์ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ เวลา 18.00 น. พื้นที่ที่มีผลกระทบทางด้านเหนือเริ่มตั้งแต่ แยกราชเทวี ไปตาม ถนนเพชรบุรี จนถึงแยกขึ้นทางด่วนเพชรบุรี ทางทิศใต้ ตั้งแต่แยกทางขึ้นด่วนเพชรบุรี ตามถนนวิทยุ จนกระทั่งสี่แยกถนนวิทยุ เรื่อยมาจนถึงถนนพระรามที่ 4 จนถึงแยกสามย่าน และขึ้นเหนือไปบรรจบจุดเริ่มต้นตามถนนพญาไท จนกระทั่งถึงแยกราชเทวี ซึ่งเป็นลักษณะกรอบสี่เหลี่ยม การบริการสาธารณะทุกชนิดทั้ง ไฟฟ้า ประปา การจราจร รถประจำทาง เรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส (ไม่จอดรับส่งผู้โดยสารใน 4 สถานี คือ สถานีสยาม สถานีชิดลม สถานีเพลินจิตและสถานีราชดำริ (ปิดให้บริการทุกสถานีเวลา 19.00 น.)) และรถไฟฟ้าใต้ดิน (ไม่จอดรับส่งผู้โดยสารใน 2 สถานี คือ สถานีสีลมและสถานีลุมพีนี (ปิดให้บริการทุกสถานีเวลา 22.00 น.)) จะมีการระงับเริ่มตั้งแต่ 18.00 น. เป็นต้นไป โดยเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนหลักสากลจากเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน และมีการใช้อาวุธกระสุนจริงด้วย
12.00 น. ที่โรงแรมรามา การ์เดนส์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าแผนปรองดองนั้นถูกยกเลิกไปเรียบร้อยแล้ว โดยรัฐบาลจะใช้มาตรการตัดน้ำ ตัดไฟ และเคลียร์พื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ให้เร็วที่สุด