วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2556

แรงต้าน 2 เด้ง "นิรโทษฯ" ฉบับสุดซอย ล้างผิด 2 ขั้ว ทั้ง คนสั่งฆ่าม็อบ-ทักษิณ


      




        การพลิกโฉม แปลงกาย "ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม" ที่เสนอโดย วรชัย เหมะส.ส.สมุทรปราการ และคณะ ในแบบ"หักดิบ"   จากนิรโทษกรรมให้เฉพาะประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง  แผ่ขยายออกไปถึงผู้สั่งการ เจ้าหน้าที่ และผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิด โดยคตส.อันเป็นกลไกของคณะรัฐประหาร   2549  เป็นผลงานการเสนอของ"หัวเขียง" ประยุทธ ศิริพาณิชย์ อดีตส.ส.มหาสารคาม  ก่อให้เกิดความขัดแย้งในเครือข่ายพรรคเพื่อไทยอยู่ในขณะนี้ 

      กลุ่มสนับสนุนให้นิรโทษฯ ตามแนวทางของ"หัวเขียง" ประยุทธ ศิริพาณิชย์  อดีตส.ส.มหาสารคาม  ได้แก่ แกนนำพรรค ที่นำโดย เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ หรือเจ๊แดง
      ขณะที่ส.ส.ระดับแกนนำ ออกอาการกระอักกระอ่วนฟีลแบบ"กลืนไม่เข้าคายไม่ออก"  ที่ทำให้เกิดปัญหาในการผลักดัน ก็คือ การที่อานิสงส์ของการล้างผิด จะครอบคลุมไปถึง "ผู้สั่งการ" ในเหตุการณ์สังหารประชาชนเมื่อปี 2553 

       คนเสื้อแดงพกความเคียดแค้น ถามหาความยุติธรรม รอคอยการตัดสินคดีนี้มาอย่างยาวนานเทคะแนนโหวตให้พรรคเพื่อไทยอย่างท่วมท้น เพื่อเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้    
จากยุคหนึ่งที่คดีโดนดอง ระหว่างปี 2553-2554 จนกระทั่งเปลี่ยนรัฐบาล เป็นพรรคเพื่อไทย นายกฯ เปลี่ยนมาเป็นน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 
       การไต่สวนสาเหตุการตายที่ดำเนินการในศาลยุติธรรม ปรากฏผลชัดขึ้นเรื่อยๆ เคลียร์ไปทีละประเด็น  คนตายในสถานที่ต่างๆ เพราะกระสุนปืนเจ้าหน้าที่ ไม่มีชายชุดดำ ผู้วางเพลิงเผาห้างยักษ์ ไม่ใช่คนเสื้อแดงที่ถูกจับตัว  คืบหน้าเข้าใกล้ตัวผู้บงการทุกขณะ  แล้วอยู่ๆ จะเกิดรายการเททิ้งไปทั้งแผง ข่าวการนิรโทษฯ จึงสร้างความอึดอัดให้กับคนเสื้อแดง ส.ส.ในพรรคที่ผูกพันกับชะตากรรมของเหยื่อการสลายม็อบ 
     
         อีกทางหนึ่ง กม.นิรโทษ ฯจะยกเลิกความผิดของผู้ถูกดำเนินคดีโดยคตส. ซึ่งถือว่า เป็น"กลไก""ที่คณะรัฐประหารสร้างขึ้น โดยหลักสากลแล้ว การดำเนินคดีโดยกลไกพิเศษ นอกเหนือจากกระบวนการยุติธรรมปกติ ไม่เป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว  กลุ่มที่จะได้อานิสงส์ เบอร์ต้นๆได้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากคดีที่ดินรัชดา และคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน
         เมื่อมีชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ต้องสงสัยว่าจะเรียกแขกให้เข้ามาร่วมงานนี้ได้เป็นโขยงแน่นอน
         ทั้งแขกที่มองเห็น  มองไม่เห็น แขกทีประสงค์ออกนาม และไม่ประสงค์ออกนาม


(ภาพประกอบ)


        ปัญหาของกม.ฉบับสุดซอย-ยกเข่ง  ก็คือ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษฯ ของวรชัย เหมะ  เริ่มต้นจากนิรโทษให้ประชาชน
         การที่อยู่ๆ หักมุมให้ส่งผลนิรโทษถึงกลุ่มอื่น ถือเป็นวิธีดำเนินการที่ทำให้เกิดเสียงโต้แย้งได้

        แม้จะอ้างว่า การนิรโทษฯเฉพาะกลุ่ม อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ก็ฟังได้ยาก และพูดช้าเกินไป        หากจะนิรโทษฯทั้งหมด ก็ต้องเขียนหลักการและเหตุผลของกฏหมายให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น บอกกล่าวกับสังคม และสภาฯให้ชัดเจน ตรงไปตรงมา
        นั่นคือหลักการสำคัญในการพิจารณาถึงความเหมาะสมชอบธรรมของร่างพ.ร.บ.นี้
        แต่การคัดค้านร่างสุดซอยนี้ มุ่งไปที่ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ มากกว่า         สุดท้ายพรรคเพื่อไทย ก็ต้องมาประเมินว่า จะยอมหักหลักการสำคัญ เพื่อขยายผลการนิรโทษกรรมออกไปหรือไม่
        ทางถอยยังมี เพราะการพิจารณาในวาระ 2 สภาจะต้องโหวตว่า จะให้เป็นไปตามร่างเดิม ของนายวรชัย  หรือให้เป็นไปตามแนวของ"หัวเขียง"
        และมีส.ส.ในพรรคไม่น้อยที่พยายามคัดง้าง ผลักดันให้เป็นไปตามร่างของนายวรชัย ส่วนจะขัดรัฐธรรมนูญอย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องข้อเท็จจริงในอนาคต
         ที่แน่ๆ การตัดสินใจในประเด็นนี้ จะส่งผลต่ออนาคตของพรรคเพื่อไทยต่อไป        

วันที่ 23 ตุลาคม 2556

วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เรื่องเล่า 6 ตุลา 2519 : ลำดับเหตุการณ์กรณี 6 ตุลาคม 2519

ลำดับเหตุการณ์กรณี 6 ตุลาคม 2519



มิถุนายน 2519

สุธรรม แสงประทุม ได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ในช่วงนั้นได้มีการประเมินสถานการณ์ว่ากำลังก้าวเดินไปสู่ความเลวร้ายทุกขณะ โดยมีการทำลายล้างทั้งการโฆษณาและวิธีการรุนแรง แต่กลับทำให้ขบวนการนักศึกษาเติบใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ดูจากผลการเลือกตั้งกรรมการนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ประจำปี 2519 นักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าได้รับชัยชนะเกือบทุกสถาบัน

27 มิถุนายน 2519

กิตติวุฒโฑภิกขุ ให้สัมภาษณ์ น.ส.พ.จัตุรัส ว่า “การฆ่าคนเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือเป็นบุญกุศลเหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ”

2 กรกฎาคม 2519

กรรมการ ศนท. นัดพบประชาชนที่สนามหลวง การชุมนุมครั้งนี้มีคนถูกปาด้วยเหล็กแหลมและก้อนหินจนบาดเจ็บหลายคน สุธรรมกล่าวในการชุมนุมว่ากรรมการ ศนท.ชุดนี้อาจจะเป็นชุดสุดท้าย แต่ก็พร้อมยืนตายคาเวทีต่อสู้

ในช่วงนั้น ที่ทำการ ศนท. ในตึก ก.ต.ป. ถูกล้อมและขว้างปาหลายครั้ง และยังเคยมีคนมาติดต่อกับกรรมการ ศนท.เสนอให้เดินทางออกนอกประเทศ พร้อมกับจะสนับสนุนเงินทองและที่อยู่ให้ โดยบอกว่าจะมีรัฐประหารแน่นอน แต่ไม่อยากให้นักศึกษาลุกขึ้นต่อต้าน แต่กรรมการ ศนท.ตอบปฏิเสธ

27 กรกฎาคม 2519

หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพาดหัวขนาดใหญ่ว่า “วางแผนยุบสภาผู้แทน ตั้งสภาปฏิรูปสวมรอย” เนื้อข่าวกล่าวว่า บุคคลกลุ่มหนึ่งประกอบด้วยทหาร ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้า ข้าราชการ กำลังวางโครงการตั้ง “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” เตรียมตัวเพื่อขึ้นมาบริหารงานแทนรัฐบาลเสนีย์

6 สิงหาคม 2519

คณะรัฐมนตรีประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาคำขอของจอมพลถนอม (ที่จะเดินทางเข้าประเทศ) ปรากฏว่าความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ควรอนุมัติเพราะจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดการชุมนุมขับไล่ อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรอนุมัติเพราะจอมพลถนอมมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

10 สิงหาคม 2519

มีข่าวลือว่าจอมพลถนอมเดินทางเข้ามาในประเทศไทย แต่วันรุ่งขึ้นก็มีข่าวว่าจอมพลถนอมทำบุญเลี้ยงพระที่วัดไทยในสิงคโปร์

16 สิงหาคม 2519

มีข่าวแจ้งว่าจอมพลประภาส จารุเสถียร หนึ่งในสามทรราชที่ถูกนักศึกษาประชาชนขับไล่ และหลบหนีออกนอกประเทศไปเมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เดินทางกลับเข้าประเทศแล้ว

19 สิงหาคม 2519

นักศึกษาจำนวนหนึ่งจัดขบวนแห่รูปวีรชน 14 ตุลา ไปที่สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาให้ตำรวจดำเนินคดีกับจอมพลประภาส
15.00 น. นักศึกษาชุมนุมที่ลานโพธิ์ แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะมีคำสั่งห้ามแล้ว
17.00 น. ศนท.จัดชุมนุมที่สนามหลวง
22.00 น. นักศึกษาประชาชนประมาณหมื่นคน เคลื่อนขบวนจากสนามหลวงเข้ามายังสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ และมีการชุมนุมกันตลอดคืน

20 สิงหาคม 2519

กรรมการองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) เปิดอภิปรายที่ลานโพธิ์ ชี้แจงเหตุผลที่ต้องย้ายการชุมนุมเข้ามาในธรรมศาสตร์ การชุมนุมที่สนามฟุตบอลยังดำเนินไปตลอดคืน

21 สิงหาคม 2519

กลุ่มกระทิงแดงเริ่มปิดล้อมมหาวิทยาลัย
14.00 น. นักศึกษารามคำแหง 3,000 คน เดินขบวนเข้ามาทางประตูมหาวิทยาลัยด้านพิพิธภัณฑ์ กระทิงแดงปาระเบิดและยิงปืนเข้าใส่ท้ายขบวน มีผู้เสียชีวิต 1 คน แต่การชุมนุมยังดำเนินต่อไป
20.30 น. ฝนตกหนัก กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงยืนหยัดอยู่ในสนามฟุตบอล จนฝนหยุด จึงเคลื่อนเข้าไปในหอประชุมใหญ่ และอยู่ข้างในตลอดคืน

22 สิงหาคม 2519

จอมพลประภาสเดินทางออกนอกประเทศ นักศึกษาประชาชนสลายตัว

26 สิงหาคม 2519

มีข่าวลือว่าจอมพลถนอมลอบเข้ามาทางจังหวัดสงขลา แต่ไม่เป็นความจริง นายสุธรรม แสงประทุม เลขาศูนย์นิสิตฯ แถลงว่าจอมพลถนอมต้องการกลับมามีอำนาจอีกครั้ง

27 สิงหาคม 2519

อธิบดีกรมตำรวจมีคำสั่งให้หน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องระมัดระวังมิให้จอมพลถนอมเดินทางเข้าประเทศไทย

28 สิงหาคม 2519

ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร เดินทางเข้าประเทศไทย โดยแถลงว่าเข้ามาเพื่อปรนนิบัติบิดาของจอมพลถนอม และมารดาของท่านผู้หญิง รวมทั้งเป็นเจ้าภาพงานแต่งงานเพื่อนของบุตรชายด้วย

29 สิงหาคม 2519

บุตรสาวจอมพลถนอม 3 คนเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่บ้านพักซอยเอกมัย เพื่อเจรจาขอให้จอมพลถนอมเข้ามาบวชและรักษาบิดา นายกฯ ขอนำเรื่องเข้าปรึกษา ครม.

30 สิงหาคม 2519

น.ท.ยุทธพงษ์ กิตติขจร ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และเหตุผลที่จอมพลถนอมขอเดินทางเข้าประเทศไทย

31 สิงหาคม 2519

ครม.พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สมควรอนุมัติให้จอมพลถนอมเดินทางกลับเข้ามา และ รมช.ต่างประเทศสั่งสถานทูตไทยในสิงคโปร์แจ้งผลการประชุม ครม.ให้จอมพลถนอมทราบ
อ่านเอกสารฉบับเต็ม (Microsoft Word)

เรื่องเล่า 6 ตุลา 2519 (3) : ย้อนอดีต เหตุการณ์ 6 ตุลา 19

ย้อนอดีต เหตุการณ์ 6 ตุลา 19

ความหอมหวานแห่งชัยชนะ




ก่อนจะกล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 คงเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องกล่าวโยงไปถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นักศึกษาประชาชนไทยได้แสดง “พลังประชาชนและประชาธิปไตย” อันเป็นพลังที่ส่งผลให้ทิศทางการเมืองและสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว ผู้นำเผด็จการ 3 คนซึ่งมีอำนาจล้นฟ้าในประเทศขณะนั้นคือ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด จอมพลประภาส จารุเสถียร รองนายกฯ รัฐมนตรีมหาดไทย ผู้บัญชาการทหารบก และพ.อ.ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายจอมพลถนอมและบุตรเขยจอมพลประภาส ต้องเดินทางออกจากประเทศไทย

ชัยชนะของขบวนการนักศึกษาและประชาชนที่สามารถโค่นรัฐบาลเผด็จการให้พ้นจากอำนาจได้ ทำให้บรรยากาศการเมืองไทยเปลี่ยนจาก “ยุคมืดของเผด็จการ” เป็น “ยุคทอง” ของการต่อสู้เพื่อเอกราช ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม ความตื่นตัวในสิทธิประชาธิปไตยขยายตัวอย่างรวดเร็วจากห้องเรียนในสถานศึกษา สู่โรงงานและท้องไร่ท้องนารวมทั้งตามถนนหนทางทั่วไป

ช่วงนั้นขบวนการนักศึกษาได้รับความชื่นชมยกย่องจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งคาดหวังว่าเมื่อสามารถกำจัดผู้นำเผด็จการให้พ้นจากอำนาจได้แล้ว สังคมไทยควรเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดถอนรากถอนโคน โดยมองข้ามความจริงที่ว่า แม้ผู้นำเผด็จการจะถูกกำจัดไปแล้ว แต่แกนโครงสร้างทางอำนาจของเผด็จการยังคงอยู่ เพียงถอยฉากไปฟักตัวรอเวลาเหมาะสมที่จะเติบโตขึ้นมาอีก เรื่องนี้มีผู้เปรียบอำนาจการปกครองระบอบเผด็จการของเมืองไทยขณะนั้นว่า เหมือนตึกที่มีรากฐานมั่นคง เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เป็นเพียงพายุใหญ่ที่พัดกระเบื้อง 3 แผ่นหลุดปลิวไปเท่านั้น เมื่อขับไล่ผู้ปกครองกลุ่มเก่าไป ก็จะมีผู้ปกครองกลุ่มใหม่เข้ามาช่วงชิงดอกผลจากการต่อสู้ของนิสิตนักศึกษาประชาชน โดยพยายามทุกวิถีทางที่จะฟื้นอำนาจเผด็จการอย่างเก่าขึ้นมาอีก ความจริงเรื่องนี้เองที่ทำให้สังคมไทยในเวลาต่อมาแบ่งแยกออกเป็นสองขั้ว (มีชื่อเรียกต่างกันไป เช่น ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายก้าวหน้า ฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย ฯลฯ) อันทำให้เกิดข้อขัดแย้งมากมายในสังคมไทย และเป็นประเด็นให้เกิดความรุนแรงอย่างที่สุดในอีก 3 ปีต่อมา

หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 คลี่คลายลง ขบวนการนักศึกษามีบทบาทเป็นแกนกลางเชื่อมประสานการต่อสู้ของกรรมกรและชาวนาไทยเข้าด้วยกัน รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม

เพื่อฉายภาพสังคมช่วงนั้นให้เห็นชัดเจนขึ้น จึงขอนำข้อมูลจากบทความเรื่อง “ใครก่อเหตุการณ์ 6 ตุลา” โดย ศรพรหม วาศสุรางค์ ในหนังสือ “อย่าเป็นเพียงตำนาน” ของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเสนอดังนี้

ช่วง 2 เดือนหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 นั้น กรรมกรนัดหยุดงานเพิ่มมากขึ้นกว่า 300 ครั้ง และในปีถัดมากระแสการนัดหยุดงานก็พุ่งสูงขึ้นมากกว่า 700 ครั้ง ถึงขนาดสามารถกล่าวได้ว่า ขบวนการกรรมกรกว่าร้อยละ 80 เคยนัดหยุดงานในช่วงเวลาดังกล่าวมาแล้วทั้งนั้น ปัญหาการนัดหยุดงานของกรรมกรเกิดจากสภาพความบีบคั้นแร้นแค้นที่สะสมมานานจนเกิดแรงระเบิดขึ้นในระยะดังกล่าว ผู้ใช้แรงงานเรียกร้องขอเพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการ รวมทั้งหลักประกันในการทำงาน จนกระทั่งปี 2517 กรรมกรก็ชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่ท้องสนามหลวง สามารถเรียกร้องให้รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ออกประกาศกำหนดค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศได้สำเร็จ และนำไปสู่การออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานในปีถัดมา กระแสการเคลื่อนไหวของกรรมกรที่ถี่ขึ้น ได้นำไปสู่การก่อตั้งสหภาพแรงงานในวิสาหกิจต่างๆ แล้วเติบโตขยายตัวก่อตั้งองค์กรกลางสหภาพแรงงาน และองค์การสภาลูกจ้างแรงงานในที่สุด

ส่วนการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ในชนบทนั้น หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ชาวนาชาวไร่ผู้ประสบความเดือดร้อนมาช้านานได้รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาชาวนา ตั้งแต่ปี 2517 จนถึงเดือนพฤษภาคม ชาวนาจำนวนมากได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องหนี้สินและปัญหาการครอบครองที่ดิน ปลายเดือนมิถุนายน 2517 ชาวนาได้จัดชุมนุมใหญ่เป็นครั้งแรกที่ท้องสนามหลวง และชุมนุมกันอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ในที่สุดก็มีการก่อตั้งองค์กรของชาวนาขึ้นอย่างเป็นทางการในชื่อ “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่”
| next |

------------------------------------------------------------------------- 
 ด้วยความขอบคุณ..บันทึกไว้เพื่อการศึกษาhttp://www.2519.net/autopage/show_page.php?t=13&s_id=1&d_id=1

เรื่องเล่า 6 ตุลา 2519 (2) : เส้นทางวรรณกรรมเพื่อชีวิต จาก พ.ศ.2492-ปัจจุบัน

เส้นทางวรรณกรรมเพื่อชีวิต จาก พ.ศ.2492-ปัจจุบัน

ผลิบาน



วรรณกรรมเพื่อชีวิตช่วงปี 2492-2495



จุดเริ่มของ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” น่าจะมาจากแนวคิดเรื่อง “ศิลปะเพื่อชีวิต” ซึ่งนำเสนอโดย อัศนี พลจันทร (อินทรายุทธ, นายผี) และอุดม สีสุวรรณ (พ.เมืองชมพู, บรรจง บรรเจิดศิลป์) ทั้งสองเสนอแนวคิดเรื่องนี้ในบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสารชั้นนำในขณะนั้น“อินทรายุทธ” เสนอความคิดในอักษรสาส์นรายเดือน ในปิตุภูมิและมหาชน เขาวิจารณ์วรรณคดีไทยโบราณหลายเรื่อง โดยยึดหลักการว่ากวีต้องอยู่เคียงข้างประชาชน และวรรณคดีต้องนำเสนอความเป็นจริงแห่งชีวิต และสังคม ส่วน พ.เมืองชมพู ยืนยันโดยหนักแน่นว่า“ศิลปะเพื่อศิลปะ” ไม่มี และก็ไม่อาจมี มีแต่ “ศิลปะเพื่อชีวิต” เพราะศิลปะกำเนิดจากชีวิตและเกี่ยวพันกับชีวิต


“ชมรมนักประพันธ์” ก่อตั้งขึ้นในเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2493 โดยการริเริ่มของมาลัย ชูพินิจ (แม่อนงค์) ชมรมนี้จัดประชุมอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบ่อยครั้ง ด้วยหัวข้อที่เกี่ยวกับการประพันธ์ ครั้งหนึ่งมีการเสนอคำว่า “ศิลปะเพื่อชีวิต” เข้าสู่วงอภิปราย นักเขียนเพื่อชีวิตในยุคแรกหลายคนได้แสดงจุดยืนและอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์วรรณกรรม เช่น อิศรา อมันตกุล ประกาศว่า “ข้าพเจ้าจะไม่ให้ยาพิษแก่ประชาชน” ศรีบูรพา ตั้งคำถามว่า “จะใช้ศิลปะเพื่อให้เป็นคุณกับคนส่วนมากหรือเป็นคุณกับคนส่วนน้อย” และกล่าวว่า “ทำอย่างไรจึงจะทำให้ศิลปะนั้นเป็นประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์อย่างไพศาลที่สุดที่จะเป็นได้” การอภิปรายของ “ชมรมนักประพันธ์” น่าจะจุดประกายความคิดสร้างจิตสำนึกแก่นักประพันธ์รุ่นใหม่ในยุคนั้นไม่น้อย


ในช่วงนี้มีวรรณกรรมเพื่อชีวิตเกิดขึ้นมากมาย ประเภทนวนิยาย, เรื่องสั้น, กวีนิพนธ์ ที่เด่นๆ มี กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) เขียน นักบุญจากชานตัน ขอแรงหน่อยเถอะ เรื่องสั้น จนกว่า เราจะพบกันอีก นวนิยาย, อุดม อุดาการ (อ.อุดาการ) เขียน บนผืนแผ่นดินไทย เรื่องสั้น, อัศนี พลจันทร (นายผี) เขียน อีศาน กวีนิพนธ์, อิศรา อมันตกุล เขียน เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี กวีนิพนธ์, เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียน ความรักของวัลยา นวนิยาย, ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ เขียน แผ่นดินนี้ของใคร นวนิยาย, ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา (อุชเชนี) เขียน บทกวีใน “ขอบฟ้าขลิบทอง” และ “ดาวผ่องนภาดิน” กวีนิพนธ์


นอกจากนี้ยังมีกวีนิพนธ์ของเปลื้อง วรรณศรี และทวีป วรดิลก (ทวีปวร)


หนังสือสารคดีมี เดชา รัตนโยธิน เขียน วิวัฒนาการทางสังคม อุดม สีสุวรรณ (อรัญญ์ พรหมชมภู) เขียน ไทยกึ่งเมืองขึ้น, อุดม สีสุวรรณ (บรรจง บรรเจิดศิลป์) เขียน ชีวิตกับความใฝ่ฝัน, สุภา สิริมานนท์ เขียน แคปิตะลิสม์

นอกจากนี้ยังมี “รวมปาฐกถาภาคฤดูร้อน พ.ศ.2495” ซึ่งมีบทความเด่นๆ เช่น “ฐานะของสตรีตามที่เป็นมาในประวัติศาสตร์” ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ และ “การประพันธ์และสังคม” ของเสนีย์ เสาวพงศ์

ช่วงนี้คือช่วงผลิบานของวรรณกรรมเพื่อชีวิตยุคแรก


ต้องการอ่านเพิ่มเติม(เอกสาร word) จำนวน 22 หน้า
-------------------------------------------------------------- 
น้อมคารวะ..เรื่องราวที่งดงาม
จาก http://www.2519.net/autopage/show_page.php?t=11&s_id=3&d_id=4

เรื่องเล่า 6 ตุลา 2519 (1) "ต้นกล้า .. 20 ปีในความทรงจำ"



"ต้นกล้า...20 ปีในความทรงจำ"

คำให้การนายการะเวก

นายการะเวก

ข้าฯเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปีการศึกษา 2515 เสร็จการปฐมนิเทศ ก็ขึ้นไปป้วนเปี้ยนที่ชุมนุมดนตรีไทย ซึ่งอยู่ชั้น 3 ของโรงยิมเนเซียม ด้านติดคณะนิติศาสตร์

ข้าฯ เล่นดนตรีไทยมาก่อนสมัยเรียนมัธยม เล่นบทต้วมเตี้ยม เตาะแตะ และติดตาม ใช่ เล่นแบบมั่ว ๆ นั่นแหละ ตรงที่สุด

ชุมนุมดนตรีไทยธรรมศาสตร์ มีคนมาเล่นดนตรีเป็นประจำหลายรุ่น ที่เรียนจบไปแล้วก็มีมาก เพื่อน ๆ ของสมาชิกที่อยู่ต่างสถาบันก็มีพอสมควร ยังมีรุ่นครูบาอาจารย์อีกไม่น้อย

เป็นชุมนุมชนเล็ก ๆ เป็นโลกใบน้อย ๆ ของชาวดนตรีไทย

อันนี้ต้องท้าวความเล็กน้อย

โลกใบน้อย ๆ นี้แหละเป็นที่พบปะ เฮฮา ของสองผู้ยิ่งใหญ่ทางด้านวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย คือ ท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งเรียนอยู่ธรรมศาสตร์นี้ กับท่านสุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งศึกษาอยู่ ณ ศิลปากร วังท่าพระ   
การไหลบ่าของวัฒนธรรมอเมริกัน ท่วมท้นและทับถมเมืองไทย มีอาการน่าเป็นห่วง

ท่านทั้งสองนี่แหละเป็นหัวเรือใหญ่ชักชวนเพื่อนฝูงพี่น้องที่คุ้นเคยและพูดจากันรู้เรื่องตั้งวง “เจ้าพระยา” ขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2513 จำได้ไม่แน่ชัด

รูปแบบที่นำมาใช้เป็นวงมโหรีแบบกรุงศรีอยุธยา ตามที่เห็นการแสดงของวงเจ้าพระยา ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง มีดังนี้

ท่านไพศาล อินทวงศ์ สีซอสามสาย 
ท่านสุจิตต์ วงษ์เทศ ดีดกระจับปี่ 
ท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป่าขลุ่ย 
ท่านชาญ ชูเชื้อ ตีโทนรำมะนา 
ท่านนิคม ขจรศรีเดช ตีฉิ่ง 
นักร้องจำชื่อไม่ได้

เพลงที่วงเจ้าพระยาเล่น เป็นเพลงไทย 2 ชั้น มีท่วงทำนองจำง่าย เช่น เพลง “เจ้าพระยาฮาเฮ” ใช้ทำนองเพลง “คางคกชอบสระ”ซึ่งเป็นเพลงเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยา เพลง “คนทำทาง” ใช้ทำนอง “ขอมทรงเครื่อง 2 ชั้น” ซึ่งเป็นเพลงไทยเก่าแก่สำเนียงเขมร เพราะพริ้ง เพลงทั้งหมดนั้นพยายามไม่ใส่เอื้อนตามแบบเก่า และใส่เนื้อเต็มตามทำนองบรรเลง

ผู้ชมที่สำคัญก็มี..
ท่านขรรค์ชัย บุนปาน 
ท่านเสถียร จันทิมาธร 
ท่านเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ 
ท่านพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร 
และท่านชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นต้น

ต้องการอ่านเพิ่มเติม(เอกสารword)
-----------------------------------------------------------------
ด้วยคารวะ..เรื่องราวดีๆ
จาก http://www.2519.net/autopage/show_page.php?t=11&s_id=2&d_id=5