วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

ใครเห็นด้วยยกมือขึ้น

ใครเห็นด้วยยกมือขึ้น!

“ประเทศเราอ่อนไหวเหลือเกิน กับความขัดแย้ง เราเสแสร้งกันเหลือเกินแล้ว ผมไม่อยากจะใช้คำที่รุนแรงไปกว่านี้ ขอความกรุณาเถิดว่าเลิกเสแสร้ง ความขัดแย้งในสังคมประชาธิปไตยเป็นของธรรมดา เป็นของสามัญอย่างยิ่ง ขอเพียงให้คนที่เห็นต่างกันมีโอกาสพูด มีโอกาสเสนอความเห็นอย่างตรงไปตรงมา อย่าไปไล่เขา อย่าไปบอกให้เขาไปอยู่ที่อื่น อย่าไปบอกให้เขาต้องเปลี่ยนสัญชาติ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในกรอบของกฎหมายทั้งปวง”

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ แถลงถึงการจัดกิจกรรมรณรงค์แก้ไขประ-มวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเปิดตัวคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) เพื่อรวบรวมรายชื่อบุคคลให้ได้ 10,000 คน เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ (อ่านเพิ่มเติมหน้า 6) ท่ามกลางผู้ร่วมฟังนับหมื่นจนล้นห้องประชุมศรีบูรพา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งรายชื่อแรกที่ร่วมรณรงค์คือ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขณะที่นายชาญวิทย์ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คโดยตั้งหัวข้อว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับ ม.112 ของ “สยาม” vs “ไทย” ถอยหลังหรือเดินหน้าเข้าคลอง” โดยสรุปว่า แต่เดิม “ราชอาณาจักรสยาม” (สมัยโบราณ) เคยมี “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ที่มีโทษจำคุกระหว่าง 3-7 ปี แต่ “ราชอาณาจักรไทย” (สมัยใหม่) มี “กฎหมายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” ขึ้นมาแทน และมีโทษจำคุกสูงกว่าคือระหว่าง 3-15 ปี (นับได้ว่าสูงสุดในมาตรฐานสากลและนานาอารย ประเทศโลก และ “ราชอาณาจักรไทย” สมัยใหม่ของเราก็มีคดีขึ้นโรงศาลมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในระดับมาตรฐานสากลของนานาอารยประเทศเช่นกัน)

จาก “กึ่งเสรี” เป็น “ไม่เสรี”

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะตัวแทน ครก.112 อ่านแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า นับแต่การรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา สถิติการจับกุมด้วยมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉพาะปี 2553 มีการฟ้องร้องถึง 478 ข้อหา นอกจากนี้ความ “จงรักภักดี” ยังกลายเป็นอาวุธสำหรับข่มขู่คุกคามและสร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชน ความอ่อนไหวต่อมาตรา 112 จึงมักทำให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกกระทำอย่างไม่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น ไม่อนุญาตให้ประกันตน ดำเนินการไต่สวนด้วยวิธีปิดลับ และยังถูกกดดันจากสังคมรอบข้างอย่างมาก อย่างกรณี “ขบวนล่าแม่มด”

นอกจากนี้มาตรา 112 ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สถานการณ์สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประเทศไทยตกต่ำอย่างถึงที่สุด โดยรายงานปี 2554 องค์กรฟรีดอมเฮาส์เปลี่ยนสถานะเสรีภาพของไทยจาก “กึ่งเสรี” เป็น “ไม่เสรี” เช่นเดียวกับเกาหลีเหนือ พม่า จีน คิวบา โซมาเลีย และปากีสถาน

7 ข้อเสนอ “นิติราษฎร์”

โดยเฉพาะกรณีคดี “อากง” และนายโจ กอร์ดอน สัญชาติไทย-อเมริกัน ทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยดังกระหึ่มไปทั่วโลก เพราะสหประชาชาติ องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และประเทศต่างๆแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรา 112 ขณะที่ภายในประเทศก็มีการเคลื่อนไหวให้แก้ไขมาตรา 112 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกลุ่มนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ เพื่อให้สังคมร่วมกันพิจารณาในสาระสำคัญคือ

1.ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร

2.เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

3.แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

4.เปลี่ยนบทกำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 3 ปี สำหรับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่เกิน 2 ปี สำหรับพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

5.เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

6.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

7.ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด ให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้นแทนพระองค์

“นิธิ” ชี้ต้องแก้กฎหมายฉ้อฉล

นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ให้เหตุผลที่ร่วมรณรงค์ให้แก้ไขมาตรา 112 ว่า ปัจจุบันไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะให้สถาบันกษัตริย์เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ซึ่งระบอบกษัตริย์ที่ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงในหลายประเทศทั่วโลกล้วนเป็นระบอบกษัตริย์ที่อนุวัตตามระบอบประชาธิปไตย

โดยเฉพาะสัดส่วนการลงโทษความผิดมาตรา 112 เป็นข้อบังคับแน่นอนตายตัว ไม่มีทางเลือกอื่น ซึ่งไม่สอดคล้องกับความผิดที่กระทำคือ หากศาลพิ-พากษาว่ามีความผิดก็ต้องถูกจำคุก 3 ปีเป็นอย่างต่ำ และ 15 ปีเป็นอย่างสูง เมื่อเทียบกับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาจึงแตกต่างและรุนแรงกว่ากันมาก เพราะเหตุเอามาตรา 112 ไปอยู่ในหมวด “ความมั่นคงของรัฐ”

ขณะที่อำนาจในการกล่าวหาฟ้องร้องก็ให้ทุกคนมีสิทธิที่จะฟ้องร้องอย่างไรก็ได้ จนมาตรา 112 ถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อและเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือแม้แต่ไม่ชอบหน้าใครก็สามารถนำไปฟ้องร้องกล่าวโทษได้ การตัดสินใจจะดำเนินคดีหรือไม่จึงต้องใช้การพิจารณามากกว่าข้อบัญญัติของกฎหมาย เพราะบางครั้งการไม่ดำเนินคดีอาจเป็นผลดีต่อสถาบันมากกว่า ไม่ใช่ใครก็สามารถฟ้องร้องได้

“เมื่อใช้กฎหมายอย่างฉ้อฉลภายใต้วัฒนธรรมและการเมืองที่เป็นเช่นทุกวันนี้ ก็ยิ่งทำให้การใช้กฎหมายฉ้อฉลมากขึ้นไปอีก เช่น เจ้าหน้าที่ไม่กล้าตัดสินใจไม่ฟ้อง ดังนั้น จึงต้องแก้ที่ตัวกฎหมายเพื่อให้ในทางปฏิบัติจะไม่มีใครนำมาตรานี้ไปใช้อย่างฉ้อฉลได้”

กลุ่มต่อต้านเคลื่อนไหวตอบโต้

ด้านกลุ่มต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112 ก็ออกมาเคลื่อนไหวตอบโต้อย่างคึกคักเช่นกัน ไม่ใช่แค่ “ขาประจำ” ของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี ที่จัดกิจกรรมตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อผู้ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 เท่านั้น แต่ยังมีพรรคประชาธิปัตย์เจ้าเก่าที่ออกมาคัดค้าน โดยใช้เหตุผลเดิมๆที่กล่าวหากลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวว่าไม่จงรักภักดี แทนที่จะนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและเหตุผลทางหลักกฎหมายและวิชาการมาโต้แย้งและชี้แจงกับประชาชน มิใช่เอาแต่โจมตีด้วยวาทกรรมซ้ำซากอย่างนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่แถลงว่า มาตรา 112 ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่เมื่อมีกลุ่มที่มุ่งร้ายต่อสถาบันออกมาเคลื่อนไหวจึงทำให้มีปัญหาเกิดขึ้น จึงจะนำกฎหมายฉบับนี้แยกออกจากความมั่นคงของชาติไม่ได้ เพราะความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์คือความมั่นคงของไทย

“สยามประชาภิวัฒน์” จัดหนัก

แต่กลุ่มนักวิชาการที่ออกมาร่วมคัดค้านการแก้ไขมาตรา 112 และถูกจับตามองอย่างมากคือ “กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์” นำโดยนายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของนักวิชาการ 5 สถาบันอุดมศึกษา ประมาณ 20 คน แม้จะระบุว่าไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อชนกับคณะนิติราษฎร์ แต่ก็แถลงเหตุผลการคัดค้านแก้ไขมาตรา 112 และแก้รัฐธรรมนูญว่า ต้องให้คุณค่ากับสังคมไทย ไม่ใช่ไปเอาแบบสังคมตะวันตก สังคมไทยให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะเป็นตัวตั้งของสังคมไทย

ขณะที่นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หนึ่งในกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ได้ตั้งข้อสังเกตและเหตุผลที่ไม่จำเป็นต้องแก้มาตรา 112 เช่น ความผิดความมั่นคงแห่งรัฐถือเป็นการวางหลักปกป้องคุ้มครองประ- มุขของรัฐ ซึ่งแทบทุกประเทศก็มีกฎหมายลักษณะนี้ ส่วนข้ออ้างว่ามีการนำไปใช้กลั่นแกล้งทางการเมืองนั้นก็ทำได้แทบทุกลักษณะความผิด ไม่ใช่เฉพาะมาตรา 112 เท่านั้น มาตรา 112 จึงไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่แสดงความคิดเห็นเกินขอบเขตจนไปล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นคือสถาบัน

8 ราชนิกุลหนุนแก้มาตรา 112

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือราชนิกุลผู้มีชื่อเสียงจำนวน 8 คน ได้ลงนามในจดหมายที่ส่งไปถึง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันเสาร์ที่ 7 มกราคม 2555 เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้นำมาตีพิมพ์ในฉบับวันที่ 12 มกราคมว่า ราชนิกุลผู้มีชื่อเสียง 8 คน ได้แก่ หม่อมราชวงศ์สายสวัสดี สวัสดิวัตน์ (ธิดาในหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ หรือท่านชิ้น) หม่อมราชวงศ์สายสิงห์ ศิริบุตร (ธิดาในหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์) หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ (ธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์) นายวรพจน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (อดีตเอกอัครราชทูต) พลเอกหม่อมราชวงศ์กฤษต กฤดากร, หม่อม ราชวงศ์ภวรี สุชีวะ (ธิดาในหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง) หม่อมราชวงศ์โอภาส กาญจนะวิชัย และนายสุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา

เนื้อหาในจดหมายระบุว่า จำนวนคดีหมิ่นพระ บรมเดชานุภาพได้เพิ่มขึ้นอย่างสำคัญในช่วงเวลา 7 ปี จากจำนวน 0 คดีในปี 2545 เพิ่มมาเป็น 165 คดีในปี 2552 ซึ่งคดีความถูกรายงานไปทั่วโลก และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากขึ้นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

จดหมายยังอ้างถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ซึ่งทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่าการลงโทษจับกุมคุมขังบุคคลผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันนั้นมีแต่จะก่อปัญหาให้แก่พระองค์เอง และระบุว่า นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสดังกล่าว มีรัฐบาลหลายชุดหมุนเวียนกันเข้ามาบริหารประเทศ แต่ไม่มีรัฐบาลชุดใดที่จะริเริ่มดำเนินการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ขณะที่นายสุเมธให้สัมภาษณ์ว่า พวกเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย แต่คิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลซึ่งต้องแสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและปกป้องสถาบัน ซึ่งถือเป็นการเอาใจใส่ต่อความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะสังคมไทยกำลังแตกแยก ประชาชนแบ่งออกเป็นฝักฝ่ายอย่างสุดขั้ว รัฐบาลจึงควรให้ความสนใจกับคำแนะนำของในหลวง

“ที่สำคัญสุดเหนือสิ่งอื่นใด พวกเราต้องการให้มีการคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายมาตราดังกล่าว”

คอป. เสนอแนวทางแก้ ม.112

เช่นเดียวกับนายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ถึงนายกรัฐมนตรี เสนอให้แก้ไขมาตรา 112 โดยอ้างการศึกษาถึงพื้นฐานความแตกต่างในสังคมประชาธิปไตยในต่างประเทศกับสังคมไทย พบว่าในประเทศประชาธิปไตยคนในกระบวนการยุติธรรมมีความเป็นเสรีนิยมสูง แต่คนในกระบวนการยุติธรรมของไทยมีความเป็นอำนาจนิยมสูง ทำให้เกิดการโต้เถียงและขัดแย้งกันอย่างมาก แต่ คอป. ก็ไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกมาตรา 112

คอป. จึงให้รัฐบาลเสนอแก้ไขมาตรา 112 ต่อรัฐสภาว่า ใครหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งความผิดต้องให้อำนาจในการสอบสวนดำเนินคดีจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอำนาจจากสำนักราชเลขาธิการ

กดดันสภา-ผู้อาวุโส?

ส่วนนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ ที่รณรงค์เรื่อง “ฝ่ามืออากง” ได้ชวนให้สนับสนุนคณะนิติราษฎร์โดยถ่ายภาพฝ่ามือที่มีข้อความว่า “นิติราษฎร์” แม้จะยอมรับว่าไม่ได้คาดหวังกับการขับเคลื่อนของคณะนิติราษฎร์ว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน แต่อย่างน้อยก็ทำให้สังคมไทยตาสว่างเห็นปัญหาของมาตรา 112

ขณะที่อาจารย์สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในแกนนำคณะนิติราษฎร์ ยอมรับว่า การเสนอร่างหรือล่ารายชื่ออย่างเดียวอาจไม่มีอะไรมาก แต่จะต้องคอยกดดันตลอดว่ามาตรา 112 มีปัญหา แม้แต่การรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ที่รวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 ชื่อ ก็เป็นเพียงการผลักดันให้ร่างแก้ไขมาตรา 112 เข้าสู่สภา หลังจากนั้นต้องพยายามขับเคลื่อนในเชิงสังคมไปพร้อมๆกันเพื่อกดดันให้รัฐบาลขยับเรื่องนี้

แต่สิ่งสำคัญคือต้องเริ่มเรียกร้องให้คนที่มีเสียงในบ้านเมือง อย่างนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยออกมาพูดว่ามาตรา 112 มีปัญหา แต่ไม่ได้บอกว่าแล้วจะทำอย่างไรต่อ จึงต้องพยายามเรียกร้องให้นายอานันท์บอกว่าแล้วต้องทำอะไรต่อ พยายามเรียกร้องให้มานั่งคุยกันว่าสุดท้ายมาตรา 112 จะถูกปฏิรูปหรือไม่ จะแก้ไขอย่างไร หรือจะยกเลิก เชื่อว่าเรื่องนี้คุยกันได้ เพราะถึงเวลาที่จะต้องมาคุยกันแล้ว

112 วัดใจ ส.ส.เพื่อไทย?

แต่ ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแกนนำกลุ่มสันติประชาธรรม เตือนว่า แม้จะมีกระแสต่อต้านการแก้ไขมาตรา 112 มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่สามารถกลบเสียงให้แก้ไขได้ “ดิฉันเตือนว่ายิ่งมีการใช้กฎหมายมาตรา 112 อย่างรุนแรงมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้ประเทศไทยกลายเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อในลำดับต้นๆของโลกเลยทีเดียว ทั้งที่เรื่องสิทธิเสรีภาพในด้านอื่นๆมีการขยายตัวอย่างมาก ประเทศไทยมีความเจริญทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่เรื่องทางการเมืองขณะนี้กลับถดถอยตกต่ำ แล้วยังมาเจอกฎหมายที่ลงโทษคนด้วยการส่งข้อความ SMS อย่างกรณีของอากง ถือเป็นกรณีที่ช็อกความรู้สึกผู้คนเป็นจำนวนมาก”

อาจารย์พวงทองฝากถึงรัฐบาลเพื่อไทยว่า การที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศจะไม่แก้ไขมาตรา 112 ทั้งยังเดินหน้าปราบเว็บไซต์หมิ่นฯอย่างหนักเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่ามีความจงรักภักดีในรูปแบบต่างๆ ทำให้ประชาชนที่เลือกเข้ามาในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมารู้สึกว่ากำลังถูกพรรคเพื่อไทยหักหลัง และกำลังทำร้ายประชาชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย

“ดิฉันขอเตือนว่าสิ่งเหล่านี้ประชาชนจะไม่ลืมง่ายๆ และในที่สุดแล้วคนที่จะสูญเสียนอกจากประชาชนที่ถูกพวกคุณกดทับเรื่องสิทธิเสรีภาพแล้ว พรรคเพื่อไทยเองก็จะไม่ได้อะไรจากครั้งนี้เลย”

ดังนั้น แม้พรรคเพื่อไทยหรือรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์จะพยายามหลบเลี่ยงไม่แก้ไขมาตรา 112 แต่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็ต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่าทำไมจึงไม่แก้ไขมาตรา 112 ทั้งที่ประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเข้าชื่อเพื่อขอแก้ไขกฎหมายแล้ว หรือแท้จริงกำลังต้องการเกี๊ยะเซียะกับระบอบอำนาจนิยม อย่างที่นายแฟรงค์ ลา รู ผู้ตรวจการพิเศษด้านเสรีภาพการแสดงออกของสหประชาชาติ กล่าวถึงการเรียกร้องให้ประเทศไทยยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนว่า

“ไม่ใช่เป็นการแทรกแซง เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องในทางระหว่างประเทศ และเป็นความรับผิดชอบของประเทศที่ทันสมัย มีอารยะ และเป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีแต่ประเทศที่ต้องการจะกลับไปสู่ระบอบอำนาจนิยม ไร้อารยะ และไม่ตามครรลองประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะปฏิเสธหลักสิทธิมนุษยชน”

การเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงเป็นเรื่องของ “สิทธิมนุษยชน” โดยแท้

ไม่ใช่ “ขบวนการล้มเจ้า” ที่กลุ่มผลประโยชน์ที่อยู่รายล้อมและอิงแอบแนบชิดพยายามประดิษฐ์สรรหาวาทกรรมใหม่ๆ อาทิ “ทุนนิยมสามานย์” หรือ “เผด็จ การทุนนิยม” มาบิดเบือนให้คนไทยเข้าใจผิดและลืม “ความเป็นมนุษย์” ของตนไปโดยมิทันรู้ตัว

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 343 วันที่ 21-27 มกราคม พ.ศ. 2555 หน้า 18-19 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน

2012-01-20
............................................
คัดมาเพื่อการศึกษาเท่านั้น ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง